ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เอื้อมพร ทองกระจาย, สุชีลา เกษตรเวทิน, วลัยพร นันท์ศุภวัฒน์, ภัทรพร สุขเสถียร, จินตนา จันทรโคตร, จันทิรา ศักดิ์ศิริรัตน์, พวงรัตน์ เชาวะเจริญ, พนมไพร สิทธิวงษา, พรเพ็ญ ปทุมวิวัฒนา, วิไล คณารศ, มาลินี ไพบูลย์, บุษกร โปรา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลของมารดาในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอด.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลของมารดาในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอด, พ.ศ. 2527

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเกี่ยวกับความวิตกกังวลของมารดาในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอดในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินระดับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นของมารดาในระยะต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาความสัมพันธ์ของระดับความวิตกกังวลในแต่ละระยะกับตัวแปรที่เลือกสรร ได้แก่ อายุของมารดา จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์และจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ นอกจากนี้ยังศึกษาถึงระดับความพึงพอใจในการได้บริการและคุณสมบัติของมารดาที่ดี กลุ่มตัวอย่างในการศึกษา ได้แก่ สตรีในระยะตั้งครรภ์ สตรีในระยะคลอด และสตรีในระยะหลังคลอด ที่มารับบริการในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในระหว่างเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2528 และมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบประเมินความวิตกกังวลในระยะตั้งครรภ์ ในระยะก่อนคลอด และระยะคลอด และแบบประเมินความวิตกกังวลในระยะหลังคลอด ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบด้านเนื้อหาจากคณะผู้เชี่ยวชาญแล้ว ผลจากการศึกษาพบว่า 1. ระดับความวิตกกังวลของมารดาจะสูงขึ้นตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอดตามลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะคลอดและหลังคลอด กลุ่มมารดาที่มีความวิตกกังวลสูงมีถึงร้อยละ 4.54 และ 6.78 2 อายุของมารดาสามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ถึงระดับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นในระยะคลอดกล่าวคือ มารดาที่อายุสูงกว่า 30 ปี มีระดับความวิตกกังวลต่ำกว่ามารดาที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30 ปี อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ‹ .05) 3. จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์หรือนัยหนึ่งการตั้งครรภ์ครั้งแรกและครรภ์หลัง สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ถึงระดับความวิตกกังวลในระยะตั้งครรภ์ และระยะก่อนคลอด โดยที่มารดาครรภ์หลังมีระดับความวิตกกังวลในระยะตั้งครรภ์สูงกว่ามารดาครรภ์แรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05) และในขณะเดียวกันก็พบว่า ระดับความวิตกกังวลในระยะก่อนคลอดของมารดาครรภ์หลังต่ำกว่ามารดาครรภ์แรกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05) 4. จำนวนครั้งของการฝากครรภ์สามารถใช้เป็นข้อบ่งชี้ถึงระดับความวิตกกังวลในระยะตั้งครรภ์ที่ได้จากการประเมินทางจิตใจ รวมทั้งระดับความวิตกกังวลในระยะคลอดที่ประเมินอาการและอาการแสดง และระดับความวิตกกังวลหลังคลอด กล่าวคือ มารดาที่มีจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ตั้งแต่ 1 ครั้งขึ้นไป มีระดับความวิตกกังวลในระยดังกล่าวต่ำกว่ามารดาที่มีจำนวนครั้งของการฝากครรภ์ 0-1 ครั้ง 5. อายุของมารดามีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับระดับความวิตกกังวลในระยะคลอดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .01) หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ มารดาที่มีอายุมากจะมีระดับความวิตกกังวลในระยะคลอดต่ำ ตรงข้ามกับมารดาที่มีอายุน้อยซึ่งจะมีระดับความวิตกกังวลในระยะคลอดสูง นอกจากนี้อายุของมารดามีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับระดับความวิตกกังวลก่อนคลอด ถึงแม้ว่าจะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05) 6. จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับระดับความวิตกกังวลก่อนคลอด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างจำนวนครั้งของการตั้งครรภ์กับระดับความวิตกกังวลในระยะต่าง ๆ แต่อย่างใด 7. จำนวนครั้งของการฝากครรภ์ไม่มีความสัมพันธ์กับระดับความวิตกกังวลในระยะต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ถึงแม้มีแนวโน้มว่าจะมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันกับระดับความวิตกกังวลในระยะตั้งครรภ์และก่อนคลอด 8. เมื่อประเมินจากค่าสหสัมพันธ์พหุคูณ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตัวแปรที่เลือกสรรกับระดับความวิตกกังวลในระยะต่าง ๆ ของมารดาแต่อย่างใด ยกเว้นในระยะคลอด 9. มารดาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในการให้บริการด้านสูติกรรมของสถานบริการทางสุขภาพอนามัยที่ใช้ในการศึกษาและ 10. มีมารดาถึงร้อยละ 24.58 ที่ไม่สามารถระบุคุณสมบัติของมารดาที่ดีได้ และเมื่อวิเคราะห์ถึงเนื้อหาคุณสมบัติเหล่านั้นโดยส่วนร่วมพบว่า การแสดงความเอาใจใส่ดูแลการให้ความอบอุ่นใกล้ชิด และการอบรมลูกให้เป็นคนดีเป็นคุณสมบัติที่ถูกระบุมากที่สุด ความสามารถในการระบุคุณสมบัติมารดาที่ดี มีความสัมพันธ์กับจำนวนครั้งของการฝากครรภ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .05) ผลการศึกษาดังกล่าวสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการพยาบาลให้กับสตรีในระยะต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์จนถึงระยะคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะตั้งครรภ์ควรมีการรณรงค์เพื่อให้มีการฝากครรภ์กับสถานบริการทางสุขภาพอนามัยให้มากขึ้น และให้มีความต่อเนื่องของการไปรับบริการ เพื่อประสิทธิภาพของการให้การพยาบาลแก่สตรีที่อยู่ในภาวการณ์เป็นมารดาในที่สุด

Keywords: ความวิตกกังวล, ระดับความวิตกกังวล, วิตกกังวล, มารดา, การพยาบาลจิตเวช, สตรีมีครรภ์, สุขภาพจิต, mental health, anxiety, psychiatric nursing, pregnacy

ปีที่เผยแพร่/Year: 2527

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375270000040

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -