ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัชจณา สิงห์ทอง

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการเผชิญปัญหา ความพึงพอใจในชีวิต แรงสนับสนุนทางสังคม และภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 171. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของภาวะซึมเศร้าของนักเรียน จำแนกตามเพศ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน สถานภาพครอบครัว และภูมิลำเนา และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ได้แก่ พฤติกรรมการเผชิญปัญหา ความพึงพอใจในชีวิต แรงสนับสนุนทางสังคม และภาวะซึมเศร้า กลุ่มตัวอย่างคือนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 526 คน ได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองและแบบวัดภาวะซึมเศร้า (CDI) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่ม ใช้การทดลองค่าที t-test ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) ทดสอบความแตกต่างรายคู่ โดยวิธี Scheffe' วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร โดยใช้ ค่าไคสแควร์ (X2) และทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยใช้ Bonferroni's test ผลการศึกษาพบว่า 1. กลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 41.6 2. ภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่าง เมื่อจำแนกตาม เพศ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน พบว่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .05 ตามลำดับ เมื่อจำแนกตามสถานภาพครอบครัว และภูมิลำเนาไม่พบความแตกต่าง 3. พฤติกรรมการเผชิญปัญหาที่มุ่งแก้ไขปัญหากับภาวะซึมเศร้า ไม่มีความสัมพันธ์กัน ส่วนพฤติกรรมการเผชิญปัญหาที่มุ่งปรับอารมณ์กับภาวะซึมเศร้า ความพึงพอใจในชีวิตกับภาวะซึมเศร้า และแรงสนับสนุนทางสังคม กับภาวะซึมเศร้า มีความสัมพันธ์กัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05, .001 และ .001 ตามลำดับ 4. พฤติกรรมการเผชิญปัญหากับความพึงพอใจในชีวิต พฤติกรรมการเผชิญปัญหากับแรงสนับสนุนทางสังคม และความพึงพอใจในชีวิตกับแรงสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์กัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05, .001 และ .001 ตามลำดับ ข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีภาวะซึมเศร้าในอัตราร้อยละที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรตระหนักและมีมาตรการในการส่งเสริมและป้องกันภาวะซึมเศร้า ควรจัดให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในเด็กวัยรุ่น แก่ครูประจำชั้นหรือครูแนะแนว มีการรณรงค์ผ่านสื่อต่างๆ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับวัยรุ่น รวมทั้งมีนโยบายในการจัดกิจกรรมสันทนาการนอกเหนือจากกิจกรรมการเรียนการสอนก็สามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นได้

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, ซึมเศร้า, นักเรียน, วัยรุ่น, depress, depression, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

Code: 00000065

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -