ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทวี ตั้งเสรี

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2, สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546, หน้า 187. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การดำเนินงานโครงการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2544-2546 มีพื้นที่เข้าร่วม 32 จังหวัด มีการส่งเสริมการจัดบริการแก่กลุ่มเป้าหมาย การพัฒนาระบบคัดกรองและเฝ้าระวัง การประชาสัมพันธ์ทางสื่อต่างๆ และการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะในการดูแลช่วยเหลือผู้ป่วย การประเมินผลครั้งนี้มุ่งสรุปบทเรียนต่างๆ เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อประเมินประสิทธิผล กระบวนการ และบริบทต่างๆ ของโครงการ วิธีการและเครื่องมือประเมินผล ประกอบด้วย 1) แบบฟอร์มรวบรวมข้อมูล สำหรับผู้บริหารโครงการในระดับจังหวัดและอำเภอ 2) แบบบันทึกการเฝ้าระวัง (รง 506.DS) 3) การสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรที่ให้บริการใน 15 จังหวัด 4) การสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารโครงการในระดับจังหวัด 32 จังหวัด 5) การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม บุคลากรและเครือข่าย และ 6) การทบทวนเอกสารโครงการฯ ผลการประเมินเบื้องต้น พบว่าจำนวนผู้มีภาวะซึมเศร้าที่มารับบริการในช่วง 4 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2544, 2545 และ 2546 ที่มีจำนวนใกล้เคียงกับปีก่อน ๆ โดยพบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นในจังหวัดที่มีโรงพยาบาลจิตเวชอยู่ จำนวนผู้ทำร้ายตนเองใกล้เคียงกับปีก่อนๆ หรือลดลงเล็กน้อย อัตราการทำร้ายตนเองมากกว่า 1 ครั้ง น้อยกว่าสถิติปี 2544 จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ด้านการพัฒนาการบริการ พบว่า ในด้านการมีคลินิกให้คำปรึกษาแก่กลุ่มเป้าหมายนั้น รพศ/รพท. มีร้อยละ 100 รพช. มีร้อยละ 90 สอ. หรือ ศสช. มีร้อยละ 56 แต่มีการจัดระบบเพื่อให้เกิดการบริการอย่างต่อเนื่องที่ชัดเจนเพียงประมาณ หนึ่งในสี่ (ร้อยละ 23) บุคลากรส่วนใหญ่มีความมั่นใจต่อทักษะของตนในการให้คำปรึกษาดูแลผู้ป่วย ในระดับปานกลางถึงมาก ร้อยละ 70 บุคลากรมีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานโครงการนี้ในจังหวัด ในระดับปานกลางถึงมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 85 สรุปและอภิปราย จากข้อมูลประเมินที่ได้มาเบื้องต้น พบว่าโครงการฯ ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาระบบบริการ ซึ่งสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีหน่วยบริการที่มีการจัดบริการด้านการให้คำปรึกษาแก่ผู้มีภาวะซึมเศร้า และเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นตามเป้าหมาย และมีจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมด้านการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ และมีการพัฒนาระบบเฝ้าระวังที่เป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีเป้าหมายบางประการที่ยังไม่บรรลุผล จึงเป็นสิ่งที่ควรพิจารณาลงทุนและปรับปรุงการดำเนินงานในปีต่อๆ ไปเพิ่มเติม

Keywords: ภาวะซึมเศร้า, ซึมเศร้า, ฆ่าตัวตาย, กลุ่มเสี่ยง, จิตเวช, โรคทางจิตเวช, ภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย, โครงการป้องกัน, เฝ้าระวัง, depress, depression, suicide, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราขนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000067

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -