ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เฉลิมวัน สืบคง, จารุดี คงมี

ชื่อเรื่อง/Title: การป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชน ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 76.

รายละเอียด / Details:

การฆ่าตัวตายเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ และมีแนวโน้มสูงขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายหลักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยกำหนดตัวชี้วัด คือ อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต้องไม่เกิน 7 แสนต่อประชากร ในปี 2547 อัตราการฆ่าตัวตายของ จ. พัทลุงเท่ากับ 4.95 แสนต่อประชากร ปี 2548 เท่ากับ 10.26 ต่อประชากร และปี 2549 เท่ากับ 5.5 แสนต่อประชากร อำเภอเมืองพัทลุง โดยเฉพาะ โดยเฉพาะตำบลเขาเจียก พบว่าในปี 2548 มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 ราย และในปี 2549 ยังมีการฆ่าตัวตายสำเร็จอีก 1 ราย คิดเป็น 27.17 แสนต่อประชากร จะเห็นว่าปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาที่สำคัญของพื้นที่ ที่จะต้องหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน รพ.พัทลุงร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจียก จึงได้ดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายใน ต.เขาเจียก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิต และให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม ตระหนักถึงความสำคัญ รู้และสังเกตสัญญาณเตือนของการฆ่าตัวตาย สามารถให้ความช่วยเหลือตามแนวทางที่เหมาะสม กิจกรรมประกอบด้วย การประเมินดัชนีชี้วัดความสุขของประชาชน ต.เขาเจียกก่อนและหลังการดำเนินการ การจัดเวทีประชาคมเพื่อค้นหาและแก้ไขปัญหาสุขภาพจิต การสร้างเสริมสุขภาพจิตทุกกลุ่มทุกอายุ การเยี่ยมบ้านผู้สูงอายุ, ผู้พิการ, ผู้ด้อยโอกาสและผู้ป่วยจิตเวช การให้ความรู้แก่เครือข่ายชุมชนในการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะซึมเศร้า การคัดกรองภาวะซึมเศร้า และการเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย การให้ความรู้ผ่านหอกระจายข่าว การจัดบอร์ดความรู้เรื่องโรคซึมเศร้าในแหล่งชุมชน การแจกเอกสารแผ่นพับความรู้ด้านสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช การจัดรูปแบบการช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช รวมทั้งการส่งต่อ ผลการดำเนินงานพบว่า มีการบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน ประชาชน ต.เขาเจียก มีสุขภาพจิต มีความสุขเพิ่มขึ้น ไม่มีการพยายามฆ่าตัวตายหรือฆ่าตัวตายสำเร็จ เกิดคณะทำงานด้านสุขภาพจิต มีแนวทางดูแลช่วยเหลือในชุมชน คือ ค้นหาปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวช โดยใช้แบบประเมินความเครียด แบบประเมินภาวะซึมเศร้า แบบประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ให้การปรึกษาและช่วยเหลือเบื้องต้น ส่งต่อโรงพยาบาลพัทลุง ในรายที่เกินศักยภาพของสถานีอนามัยบ้านหัวถนน เฝ้าระวังและเยี่ยมติดตามโดยคณะทำงานในชุมชน ตลอดจนมีกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานครั้งนี้ เป็นประโยชน์ด้านการพัฒนาการป้องกันและแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยเน้นชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน

Keywords: ฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, สุขภาพจิต, ภาวะซึมเศร้า, โรคทางจิตเวช, ความเครียด, ดัชนีชี้วัดความสุข, ชุมชนเขาเจียก, พัทลุง, แบบประเมิน ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย, จิตเวช, องค์กรบริหารส่วนตำบล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลพัทลุง

Code: 200700063

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: