ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรัญยา พรมพลเมือง

ชื่อเรื่อง/Title: โครงการเฝ้าระวังปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชนเครือข่ายบริการสุขภาพศรีบุญเรือง อำเภอศรีบุญเรือง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 77.

รายละเอียด / Details:

หลักการและเหตุผล อำเภอศรีบุญเรือง ประกอบด้วย 12 ตำบล 157 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 106,897 คน จำนวนผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ในช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2547-2549 พบว่า มีผู้ป่วยวิตกกังวล จำนวนมากที่สุดคือ 1,704 ราย 1,311 ราย และ 1,137 ราย รองลงมาคือ ผู้ป่วยลมชัก 364 ราย 346 ราย และ 469 ราย และมีผู้ป่วยจิตเวช 896 ราย 961 ราย และ 873 ราย นอกจากนี้อัตราการฆ่าตัวตายและพยายามฆ่าตัวตายในปี 2549 พบว่า ผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายจำนวน 10 ราย คิดเป็นอัตรา 9.22 ต่อแสนประชากร และการฆ่าตัวตายสำเร็จ จำนวน 8 ราย คิดเป็นอัตรา 7.38 ต่อแสนประชากร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่กำลังประสบปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และยังพบว่าผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จยังเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีปัญหาขาดยา ไม่ได้รับยาต่อเนื่องอีกด้วย ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอศรีบุญเรือง ได้เข้าถึงบริการสุขภาพจิต และมีระบบการดำเนินงานเครือข่ายในระดับชุมชน เครือข่ายบริการสุขภาพศรีบุญเรืองจึงได้จัดทำโครงการปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชน เพื่อเป็นการจัดระบบบริการด้านสุขภาพจิต จิตเวช และป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายที่มีคุณภาพ รวมทั้งการส่งและรับ เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันปัญหาโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน วัตถุประสงค์ทั่วไป 1. อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของอำเภอศรีบุญเรือง 2. อัตราการพยายามฆ่าตัวตายของอำเภอศรีบุญเรืองลดลง วัตถุประสงค์เฉพาะ 1. เพื่อสร้างเครือข่ายในการดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายในชุมชน 2. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินงานเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย 3. ผู้ป่วยจิตเวชในพื้นที่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กลุ่มเป้าหมาย 1. บุคลากรที่รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในระดับสถานีอนามัยทุกแห่ง 2. อสม.ในพื้นที่ 3. ผู้ป่วยจิตเวช การดำเนินการ 1. การประชุมให้ความรู้ และร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย 2. ดำเนินงานตามแผนที่กำหนด การดำเนินโครงการ 1. มีแนวทางการดูแลผู้มีภาวะซึมเศร้าและผู้พยายามฆ่าตัวตายเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอศรีบุญเรือง 2. การเฝ้าระวังดำเนินการดังนี้ 2.1 โครงการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในญาติผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยโรคเบาหวานในคลินิกพิเศษผลการดำเนินการโครงการพบว่า ก่อนการดำเนินโครงการญาติผู้ป่วยจิตเวชมีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 56.9 ไม่มีภาวะเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และผู้ป่วยโรคเบาหวานมีภาวะซึมเศร้าร้อยละ 64.4 มีภาวะเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ร้อยละ 10.25 ภายหลังโครงการพบว่า ญาติผู้ป่วยจิตเวชมีภาวะซึมเศร้าลดลงร้อยละ 32.8 ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะซึมเศร้าลดลงร้อยละ 52.3 และภาวะเสี่ยงในการฆ่าตัวตายลดลงร้อยละ 8.2 2.2 โครงการติดตามเยี่ยมผู้พยายามฆ่าตัวตาย และครอบครัวและชุมชนที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จ และติดตามเยี่ยมผู้ป่วยจิตเวช จากผลการดำเนินโครงการ พบว่าชุมชนที่มีการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่มีการฆ่าตัวตายซ้ำอีก นอกจากนี้ผู้ป่วยจิตเวชมีภาวการณ์ขาดยาลดลงร้อยละ 10.2 3. การป้องกัน มีโครงการดังนี้ 3.1 การให้ความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า และผู้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในชุมชน ผลการดำเนินงานพบว่า มีแกนนำในชุมชนได้ดเนินการประชาสัมพันธ์ความรู้ในชุมชนผ่านทางหอกระจายข่าวข่าย 2 ครั้ง/เดือน 3.2 โครงการอบรมแกนนำสุขภาพจิตและจิตเวชโดยเครือข่ายชุมชน ผลการดำเนินงาน พบว่ามีแกนนำสุขภาพจิตในหมู่บ้านนำร่อง 15 หมู่บ้านในพื้นที่ สถานีอนามัยดอนเกล็ด ตำบลยางหล่อ โดยได้รับสนับสนุนงบปรหะมาณจากกรมสุขภาพจิตและ อบต.ยางหล่อ 3.3 โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการสุขภาพจิตในชุมชน PCU เมืองใหม่ ผลการดำเนินงาน พบว่ามีแนวทางการดำเนินสุขภาพจิต โดยภาคเครือข่ายด้านสุขภาพจิตคือ ผู้นำชุมชน อบต. ผู้ใหญ่บ้าน 3.4 โครงการพัฒนาศักยภาพทีมเยี่ยมบ้านแบบบูรณาการ ผลการดำเนินโครงการพบว่า ทีมเยี่ยมบ้านมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยจิตเวช และมีแนวทางการเยี่ยมบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ 4. ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2549-มีนาคม 2550 อำเภอศรีบุญเรือง มีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ 3.68 ต่อแสนประชากร และอัตราการฆ่าตัวตาย 6.45 ต่อแสนประชากร ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการป้องกันการฆ่าตัวตายในชุมชน การดำเนินโครงการ โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ทำให้พบวิธีการดูแลผู้ป่วยสุขภาพจิตในพื้นที่ โดยอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่น อาทิเช่น 1. รำผีฟ้า เพื่อให้ผู้ที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ หาย ยึดหลังความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ 2. การรดน้ำมนต์ โดยให้พระสงฆ์รดน้ำมนต์ให้กับผู้เจ็บป่วยต่างๆ จะมีอาการดีขึ้นหรือหายเจ็บป่วย นวตกรรมการดูแลสุขภาพจิต 1. ครอบครัวบัดดี้ เป็นรูปแบบกิจกรรมที่มีการอบรมแกนนำด้านสุขภาพจิต แล้วแกนนำเหล่านี้ต้องดูผลด้านสุขภาพจิต เช่น ความเครียด ภาวะซึมเศร้าครัวเรือยที่อยู่ใกล้เคียงตนเอง โดยการเฝ้าระวัง การให้ความรู้แก่ครัวเรือนบัดดี้ตนเอง

Keywords: ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, สุขภาพจิต, จิตเวช, ความเครียด, ศรีบุญเรือง, หนองบัวลำภู, ผู้ป่วยจิตเวช, เครือข่าย, ปัญหาฆ่าตัวตาย, ชุมชน, ผู้ป่วยจิตเวช

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู

Code: 200700064

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: