ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: งานสุขภาพจิต

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการดำเนินงานป้องกันการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2, เรื่อง เรียนรู้เพื่อการบำบัดโรคซึมเศร้าและการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย, วันที่ 25-28 กรกฎาคม 2550 ณ. โรงแรมดุสิตไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย, หน้า 80.

รายละเอียด / Details:

ปัญหาและความสำคัญ การฆ่าตัวตายหรือัตวินิบาตกรรม หมายถึง การคที่บุคคลมีความคิด หรือจงใจกระทำให้ตนเองได้รับความเจ็บป่วย หรือเป็นอันตราย หรือฆ่าตนเองโดยตรง เป็นการเบี่ยงเบนของพฤติกรรม หรือเป็นการกระทำที่เป็นการทำลายชีวิตของตนเองโดยเจตนาด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งสาเหตุของการฆ่าตัวตายเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ เช่น การเจ็บป่วยทางกาย เศรษฐกิจ และสังคม อย่างไรก็ตาม การฆ่าตัวตายก่อนจะเกิดขึ้นกับบุคคลใดก็ตาม จะมีลักษณะของความลังเล มีความรู้สึกอยากตาย และไม่อยากตาย ถ้ามีทางเลือก หรือได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที จะช่วยลดปริมาณการฆ่าตัวตายลงได้มาก พฤติกรรมในการฆ่าตัวตาย จึงเป็นปรากฎการณ์ทางด้านชีวจิตสังคม (รายงานวิจัยเสงี่ยม และคณะ, อ้างถึงจิราภรณ์, 2535) จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน (ทวี, สุพิน, ไพลิน, 2546) หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสำเร็จ โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินงานด้านการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายตามมาอย่างต่อเนื่อง จากรายงานการเก็บข้อมูลเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย (506DS) ของอำเภอละงู พบว่าปี 2547 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย จำนวน 24 ราย ฆ่าตัวตายสำเร็จ 0 ราย, ปี 2548 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย จำนวน 55 ราย ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 ราย และ ปี 2549 มีผู้พยายามฆ่าตัวตาย จำนวน 18 ราย ฆ่าตัวตายสำเร็จ 5 ราย คิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จร้อยละ 0, 3.1, 7.8 ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของอำเภอละงู มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับการพยายามฆ่าตัวตาย และเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 57.1 เป็นเพศชาย ร้อยละ 42.8 อยู่ในช่วงอายุ 21-30 ปี และร้อยละ 57.1 นับถือศาสนาอิสลาม โดยสาเหตุของการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ร้อยละ 42.8 เกิดจากปัญหาการทะเลาะกันระหว่างสามี-ภรรยา ส่วนวิธีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ร้อยละ 57.1 ใช้วิธีการผูกคอ (ฐานข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลละงู, 2547-2549) ณ. จุดนี้หากงานสุขภาพจิตโรงพยาบาลละงู สามารถพัฒนาและสร้างเสริมให้ประชาชนและชุมชน มีความรู้ มีทักษะและตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ได้อย่างเหมาะสมกับบริบทและภูมิปัญญาของท้องถิ่นแล้ว ก็จะช่วยให้ลดการเกิดความรุนแรง และอันตรายที่เกิดจากการฆ่าตัวตายได้ประการหนึ่ง ดังนั้นโรงพยาบาลละงูจึงได้จัดทำโครงการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายอำเภอละงูขึ้น เพื่อให้สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในกลุ่มเจ้าหน้าที่สาธารณสุข กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่มผู้นำศาสนา และครอบครัวให้สามารถนำความรู้ ตลอดจนทักษะ ในการป้องกันการฆ่าตัวตายมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม และลดการเกิดปัญหาการฆ่าตัวตายในชุมชน วัตถุประสงค์ 1. เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายไม่เกิน 7 ต่อแสนประชากร 2. เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายซ้ำ 3. เพื่อให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและป้องกันการฆ่าตัวตายอย่างต่อเนื่องในชุมชน เป้าหมาย บุคลากรทางด้านสาธารณสุข, อาสาสมัครสาธารณสุข, ผู้ดูแลและครอบครัว ผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา วิธีดำเนินงาน 1. ขั้นประชุมทีมงานเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาจากฐานข้อมูลรายงาน 2. นำเสนอปัญหาต่อคณะผู้บริหารโรงพยาบาล 3. คณะผู้บริหารโรงพยาบาลพิจารณาอนุมัติ และสนับสนุนงบประมาณในการวางแผนแก้ไขปัญหา 4. วางแผนแก้ไขปัญหาโดยดำเนินการ ดังนี้ 4.1 ด้านการจัดระบบดูแลช่วยเหลือแบบครบวงจรในชุมชน -พัฒนาทักษะ ความรู้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข เรื่องแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายทั้งในโรงพยาบาล และสถานีอนามัย เพื่อเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการดูแล ช่วยเหลือและติดตามอย่างต่อเนื่อง -พัฒนาทักษะ ความรู้อาสาสมัครสาธารณสุขเรื่องแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในชุมชน เพื่อให้อาสาสมัครสาธารณสุขเป็นแกนนำในการเฝ้าระวังและช่วยเหลือเบื้องต้น 4.2 ด้านการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชนในการแก้ปัญหา -พัฒนาทักษะ ความรู้แกนนำชุมชนและผู้นำศาสนา เรื่องแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในชุมชนโดยใช้กระบวนการจัดการความรู้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้เรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตายในชุมชน โดยผ่านทางเสียงตามสาย และผู้นำศาสนา 4.3 ด้านการคัดกรอง การค้นหา การดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยในชุมชน -โครงการสำรวจภาวะสุขภาพจิตผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย อำเภอละงู โดยใช้แบบประเมิน GHQ 12, แบบประเมินภาวะซึมเศร้า, และแบบประเมินความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ 15-60 ปี อำเภอละงู จำนวน 13,000 คน -อาสาสมัครสาธารณสุขคัดกรอง และเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องทุก 6 เดือน 4.4 ด้านการจัดแหล่งสนับสนุนทางสังคม และการนำวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ -อบรมผู้นำศาสนาอิสลาม และผู้นำชุมชน เรื่องการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยใช้เทคนิคกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการจัดการความรู้ และกำหนดแนวทางในการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาในการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายที่เป็นรูปแบบเดียวกัน -กระตุ้นให้เกิดกลุ่มจิตอาสาในชุมชน ในการดำเนินงานเฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย เช่น การเป็นที่ปรึกษาเมื่อมีความเครียด ไม่สบายใจ 4.5 ด้านการนำครอบครัว และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา -พัฒนาทักษะ ความรู้ครอบครัว และผู้ดูแลผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เรื่องแนวทางการป้องกันและช่วยเหลือผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ผลการดำเนินงาน 1. อัตราการฆ่าตัวตายปีงบประมาณ 2550(ตุลาคม-มิถุนายน) คิดเป็นร้อยละ 1.5 ต่อแสนประชากร 2. อัตราการฆ่าตัวตายซ้ำร้อยละ 0 3. อาสาสมัครสาธารณสุขร่วมกับครอบครัวสามารถเฝ้าระวังและคัดกรองผู้มีภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และส่งต่อได้อย่างเหมาะสมร้อยละ 90 4. เกิดกลุ่มจิตอาสาในการดูแล และเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน แนวทางการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ขยายเครือข่ายการดำเนินงานการป้องกันการฆ่าตัวตายโดยใช้กระบวนการแผนที่ผลลัพธ์ (Outcome mapping) ในส่วนราชการต่างๆ ของอำเภอ

Keywords: การฆ่าตัวตาย, การป้องกัน, พฤติกรรมการฆ่าตัวตาย, ความรุนแรง, สุขภาพจิต, ครอบครัว, ภาวะซึมเศร้า, โรงพยาบาลละงู, สตูล, พยายามฆ่าตัวตาย, ชุมชน, อาสาสมัครสาธารณสุข, จิตเวช, ภูมิปัญญาท้องถิ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลละงู

Code: 200700065

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการการป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ครั้งที่ 2

Download: