ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พนิดา รัตนไพโรจน์, ศิริพรรณ แสนลัง, ทิพวัน ค่ายสงคราม และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการใช้โปรแกรมรูปภาพต่อการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กออทิสติกปฐมวัย.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 82.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ ปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กออทิสติกที่พบบ่อย เช่น อยู่ไม่นิ่ง กรีดร้อง ไม่ฟังคำสั่ง ทำร้ายตนเองและทำร้ายผู้อื่น ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาศักยภาพของเด็กออทิสติก การแก้ไขปัญหาพฤติกรรม หอผู้ป่วยออทิสติกได้ใช้วิธีการแบบเดิม เช่น การออกคำสั่งให้เด็กทำตาม (Follow to command) การเพิกเฉย การจำกัดพฤติกรรม และการให้แรงเสริม (Behavior Management) รวมทั้งการช่วยเหลือทางกายโดยการจับมือ แตะ สะกิด (Physical Prompt) ซึ่งใช้ได้ผล แต่มีข้อจำกัดคือต้องใช้เวลามาก นอกเหนือจากความสม่ำเสมอและความอดทนของบุคลากรและผู้ปกครอง ในการปฏิบัติให้เป็นแนวทางเดียวกัน หอผู้ป่วยออทิสติกตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้หาวิธีการใหม่ๆ มาผสมผสานเพื่อใช้แก้ไขพฤติกรรมเหล่านั้น โดยใช้จุดเด่นของเด็กออทิสติกที่สามารถรับรู้ได้ดีผ่านทางสายตา คิดเป็นภาพ (Visual Thinking) ได้ ดังนั้นหอผู้ป่วยออทิสติก จึงได้นำแนวคิดการรับรู้ทางสายตาโดยใช้กลวิธีการรับรู้ผ่านการมอง (Visual Strategies) ของ Linda A.Hodgdon มาประยุกต์ใช้กับเด็กออทิสติกโดยศึกษาในส่วนที่เป็นการใช้สื่อภาพช่วยจัดการพฤติกรรม (Management Tools) และตารางกิจกรรม (Schedules) ของเด็ก วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อศึกษาผลการใช้โปรแกรมรูปภาพต่อการลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของเด็กออทิสติกปฐมวัย ขอบเขตของการวิจัย ศึกษาในกลุ่มเด็กออทิสติก 35 ปี ที่รับไว้เป็นผู้ป่วยในของสถาบันราชานุกูล ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยกึ่งทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลัง กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กออทิสติก อายุ 3-5 ปี ของหอผู้ป่วยออทิสติก สถาบันราชานุกูล จำนวน 10 ราย ใช้วิธีเลือแบบเฉพาะเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 2 ชนิด คือ เครื่องมือที่ใช้ทดลองและเครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล โดยเครื่องมือที่ใช้ทดลองได้แก่ โปรแกรมรูปภาพ เครื่องเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและแบบสังเกตพฤติกรรมเด็กออทิสติก เก็บขั้อมูลตั้งแต่ มีนาคม-มิถุนายน 2550 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Wilcoxon Match Paired Sign Rank Test สรุปผลการวิจัย พบว่าภายหลังการทดลองใช้โปรแกรมรูปภาพกลุ่มตัวอย่างมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง เช่น ร้องไห้ กัดข้อมือตัวเอง กระตุ้นตัวเอง และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมดีขึ้น บางรายทำกิจกรรมตามคำสั่งได้สำเร็จ โดยค่าคะแนนเฉลี่ยระดับพฤติกรรมภายหลังการทดลองสูงขึ้นกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ข้อเสนอแนะ นำผลการวิจัยไปขยายผลโดยทดลองให้กับเด็กออทิสติกที่มีปัญหาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในบริบทอื่นๆ เช่นในชั้นเรียน ที่บ้านและชุมชน เป็นต้น

Keywords: เด็กออทิสติก, โปรแกรมรูปภาพ, พฤติกรรม, ปฐมวัย, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์, การลดพฤติกรรมเด็ก, autism

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถาบันราชานุกูล

Code: 200700086

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: