ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุเมธ ฉายศิริกุล, รัชจณา สิงห์ทอง, สุภาภรณ์ ผิรังคะเปาระ

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 85.

รายละเอียด / Details:

ความสำคัญ วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่วัยผู้ใหญ่ ผลจากพัฒนาการทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพร้อมกันในหลายๆ ด้าน อาจส่งผลให้วัยรุ่นเกิดความคับข้องใจ มีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพจิต พบว่วัยรุ่น โดยทั่วไปมีปัญหาด้านอารมณ์มากกว่าร้อยละ 20 และวัยรุ่นที่มีปัญหาทางจิตเวช มีสาเหตุจากอาการซึมเศร้าถึง 1 ใน 3 วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภาวะซึมเศร้าและศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้าได้แก่ ตัวแปรระดับการศึกษา เพศ ผลการเรียน สถานภาพสมรสของบิดามารดา ผู้ดูแลหลัก ค่าใช้จ่ายที่ได้รับ ความสัมพันธ์ในครอบครัว และการใช้ยาเสพติด ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นโรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี วิธีการรักษา การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา ประชากรที่ศึกษา คือ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนสังกัดเทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานี ทั้งหมด จำนวน 1,557 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบวัดภาวะซึมเศร้า CDI (Children's Depression Inventory) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติถดถอยลอจิสติก(Logistic Regression) ผลการศึกษา พบว่านักเรียนมีภาวะซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 46.3 และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้า อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ ระดับการศึกษาโดยนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 คิดเป็น .731 เท่า เพศหญิงมีภาวะซึมเศร้าสูงกว่าเพศชาย คิดเป็น 1.301 เท่า ผลการเรียนโดยนกัเรียนที่มีผลการเรียนต่ำกว่า 2.00 และกลุ่มที่มีผลการเรียนช่วง 2.00-2.99 มีภาวะซึมเศร้าสูงกว่าที่มีผลการเรียน 3.00 ขึ้นไป คิดเป็น 3.229 และ 2.075 เท่า การใช้ยาเสพติด พบว่ากลุ่มที่เคยใช้แต่เลิกแล้ว และกลุ่มที่ยังใช้อยู่ มีภาวะซึมเศร้าสูงกว่ากลุ่มที่ไม่เคยใช้คิดเป็น 1.696 และ 2.246 เท่า และความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่า กลุ่มที่มีความขัดแย้งทะเลาะกันบ้าง และกลุ่มที่มีความขัดแย้งทะเลาะกันบ่อย มีภาวะซึมเศร้าสูงกว่ากลุ่มที่มีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันราบรื่น คิดเป็น 2.318 และ 10.769 เท่า ส่วนตัวแปร สถานภาพสมรสของบิดามารดา ผู้ดูแลหลัก ค่าใช้จ่ายที่ได้รับ เป็นปัจจัยที่ไม่มีอิทธิพลต่อภาวะซึมเศร้า สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการศึกษาครั้งนี้พบภาวะซึมเศร้าอัตราค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาในกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้นการช่วยเหลือและป้องกันภาวะซึมเศร้าโดยการคัดกรองกลุ่มนักเรียนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยการคัดกรองเน้นปัจจัย ระดับการศึกษา เพศ ผลการเรียน การใช้ยาเสพติด และความสัมพันธ์ในครอบครัว ในการช่วยเหลือต่อไป

Keywords: ซึมเศร้า, ภาวะซึมเศร้า, นักเรียนมัธยม, ปัญหาทางจิตเวช, สุขภาพจิต, วัยรุ่น, คัดกรอง, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ปัญหาอารมณ์, การใช้สารเสพติด, ความสัมพันธ์ในครอบครัว, แบบวัดภาวะซึมเศร้า, CDI, children's depression inventory

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: กลุ่มงานจิตเวช โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี

Code: 200700089

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: