ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณัฐวัตน์ เนตรจรัสแสง, อารีญา หงส์ดำเนิน

ชื่อเรื่อง/Title: ลดช่องว่างระหว่างวัย ครอบครัวรักใคร่ ห่วงใยผู้สูงอายุ ตำบลหนองงูเหลือม.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 88.

รายละเอียด / Details:

ความสัมพันธ์ที่งดงามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในความรักที่ไม่มีที่สิ้นสุด ความรักและใส่ใจต่อกันของเพื่อนมนุษย์ หรือความอ่อนโยนต่อชีวิตและสรรพสิ่ง ความงดงาม ความรัก มิตรภาพ และความเป็นมนุษย์นั้นมีพลังที่สามารถเยียวยา ความบอบช้ำ ความทุกข์ และหล่อเลี้ยงชีวิตให้งอกงามได้ สถานีอนามัยตำบลหนองงูเหลือม อ.เมือง จ.นครปฐม มีจำนวนผู้สูงอายุ 1,284 คน จากการใช้แบบประเมินดัชนีความสุขของคนไทย (Thai Happiness Indicators=THI-15) พบว่าผู้สูงอายุในตำบลประมาณ 10% มีความสุขน้อยกว่าคนทั่วไป จากผลการสำรวจดังกล่าวสถานีอนามัยร่วมกับอ อบต. จึงเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาผู้สูงอายุดังกล่าว เพื่อให้เป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ สร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อบุคคลในครอบครัว การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว ชุมชน และสังคม ให้ผู้สูงอายุรู้สึกตระหนักในคุณค่าของตนเอง โดยการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนของท้องถิ่นทั้งชุมชน ภาคราชการ ประชาชน ปลูกและปลุกจิตสำนึกค่านิยมให้หันมาให้ความสำคัญกับครอบครัว รักชาติ ในการรู้รักสามัคคี ทำให้สังคมสมานฉันท์ เข้มแข็ง เอื้ออาทรต่อกัน จากจำนวนเข้าร่วมเป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ อายุ 109 คน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของตำบลหนองงูเหลือมจำนวน 1 แห่ง 60 คน มีจำนวนผู้สูงอายุเข้าร่วมทดลองเล่านิทานในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 40 คน ผลการศึกษา พบว่ามีความสุขมากขึ้น 90% จากมีการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ มีงานทำช่วยเหลือสังคมในชุมชน เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีความพึงพอใจในการเข้าร่วมฟังนิทาน 58 คน คิดเป็น 96.66% ผู้สูงอายุท่านอื่นที่มีบุตรหลานในบ้านได้รับการเล่านิทานภูมิท้องถิ่นอื่นๆ ได้สร้างสุขในครอบครัว ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้บุตรหลาน มีความใกล้ชิดเป็นกันเองกับบุตรหลานของตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดการขยายเครือข่ายการเล่านิทานไปยังเด็กอนุบาลในห้องเรียน และเกิดโครงการปู่สอนหลานซึ่งเป็นโครงการตามแผนยุทธศาสตร์ดีมีสุขของจังหวัดนครปฐม โดยใช้การเรียนรู้ต่างๆ 5 ฐาน คือ 1. ภูมิท้องถิ่น ปู่หลานสานสัมพันธ์ 2. กลุ่มจักสาน 3. กุ๊กน้อยหัดปรุง 4. ประเพณีท้องถิ่น 5. มหัศจรรย์พืชไทย โดยใช้วิทยากรในท้องถิ่นที่มีจิตอาสาเพื่อใช้ในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ จึงทำให้ได้รับความสนใจและร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนจากจำนวนเป้าหมายเด็กวัยเรียน 40 คน มีความสุขและเข้าร่วมกิจกรรม 100% ผู้ปกครองหรือบิดามารดารวมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมมีความสุข 100% จากการดำเนินงาน จะเห็นว่ากิจกรรมอันเกี่ยวกับการส่งเสริมของประชาชนนั้นเป็นภารกิจที่สำคัญ ทั้งนี้ภาวะสุขอนามัยของประชาชนเป็นตัวชี้วัดความสุขมวลรวมของประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีที่จะสามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้

Keywords: สุขภาพจิต, แบบประเมินความสุข, ความสุข, ดัชนีชี้วัดควาสุข, การลดช่องว่างระหว่างวัย, ครอบครัว, ผู้สูงอายุ, การส่งเสริมสุขภาพจิต, THI-15

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สถานีอนามัยหนองงูเหลือม, องค์การบริหารส่วนตำบลหนองงูเหลือม

Code: 200700092

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: