ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ทวี ตั้งเสรี

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในเขต 6

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 191. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจแก่ผู้ประสบอุทกภัย ขอบเขตการศึกษา เป็นการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัด คือ ขอนแก่น หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี และกาฬสินธุ์ วิธีการดำเนินงาน ได้ดำเนินการจัดทีมสุขภาพจิตออกหน่วยให้การช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัด จำนวน 846 คน โดยดำเนินการ 2 ระยะ ระยะที่ 1 ขณะประสบภาวะะวิกฤต และระยะที่ 2 หลังน้ำลดติดตามฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยติดตามตามเกณฑ์การเฝ้าระวังในกลุ่มที่มีคะแนนความเครียดอยู่ในระดับสูงขึ้นไป แบบวัดภาวะซึมเศร้า ตั้งแต่ 1 ข้อขึ้นไป โรคทางจิตเวชที่แพทย์ลงความเห็นว่าควรเฝ้าระวังต่อเนื่อง ติดตามเฝ้าระวังภายหลังประสบอุทกภัย 1,3 และ 6 เดือน จากนั้นยุติการเฝ้าระวังและส่งต่อให้พื้นที่ดูแล เครื่องมือที่ใช้ในโครงการ ได้แก่ แบบวัดความเครียด และแบบวัดภาวะซึมเศร้า การเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกันยายน 2545-พฤษภาคม 2546 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงบรรยาย สรุปผลการวิจัย ให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขต 6 จำนวน 846 คน เป็นเพศหญิง ร้อยละ 68.2 ชาย ร้อยละ 31.8 ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ร้อยละ 67.8 ค่าความเสียหายอยู่ในช่วง 15,001-50,000บาท ร้อยละ 46.4 มีระดับความเครียดสูง ร้อยละ 49.8 รุนแรง ร้อยละ 8.0 แพทย์วินิจฉัยโรค GAD ร้อยละ 29.2 Adustment disorder ร้อยละ 15.7 แพทย์ให้การรักษาด้วยยา การให้การปรึกษาและคลายเครียด และส่งต่อพื้นที่ดูแลต่อเนื่องในรายที่มีปัญหาสุขภาพจิตมาก หลังประสบอุทกภัย 1 เดือน ได้จัดทีมสุขภาพจิตดูแลต่อเนื่องในพื้นที่เดิม โดยติดตามผู้ป่วย 188 คน (ตามเกณฑ์การเฝ้าระวัง) มีผู้มาตามนัด 134 คน (คิดเป็นร้อยละ 71.3) มีความเครียดสูง ร้อยละ 50.8 เครียดรุนแรง ร้อยละ 8.2 แบบวัดภาวะซึมเศร้า มี 3 ข้อขึ้นไป ร้อยละ 37.3 บริการรักษาด้วยยาทั้งหมด ให้การปรึกษาและคลายเครียด ร้อยละ 5.2 ส่งพื้นที่ดูแลต่อเนื่อง 7 คน ติดตามเฝ้าระวัง 3 เดือน หลังประสบอุทกภัยโดยประสานงานเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตในพื้นที่พบว่า ทั้งหมดยังดำเนินชีวิตในชุมชนได้ตามปกติ 6 เดือน หลังประสบอุทกภัยได้ติดตามเฝ้าระวังครั้งสุดท้ายมีผู้มารับบริการ 142 คน (คิดเป็นร้อยละ 75.5) มีความเครียดสูง ร้อยละ 30.3 เครียดรุนแรง ร้อยละ 5.6 แบบวัดภาวะซึมเศร้า 3 ข้อขึ้นไป ร้อยละ 19.0 ให้บริการรักษาด้วยยาเกือบทุกราย และให้บริการปรึกษาและคลายเครียด ร้อยละ 8.4 และส่งต่อผู้ป่วยบางรายให้พื้นที่ดูแลต่อเนื่อง ผลการดำเนินงานในภาพรวมพบว่าผู้ประสบอุทกภัยที่ให้บริการสามารถดำเนินชีวิตในชุมชนได้ ข้อเสนอแนะ ได้รูปแบบการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยสามารถจัดทีมสหวิชาชีพออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ได้ภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับเรื่อง และมีขั้นตอนการคัดกรองผู้มีปัญหาสุขภาพจิตด้วยแบบวัดความเครียด แบบวัดภาวะซึมเศร้า ก่อนส่งแพทย์สั่งการรักษา ส่งต่อให้การปรึกษาและคลายเครียดในรายที่มีปัญหา และส่งต่อให้พื้นที่ดูแลต่อเนื่อง

Keywords: สุขภาพจิต, ผู้ประสบอุกทกภัย, ฟื้นฟูสภาพจิตใจ, น้ำท่วม, โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น, สุขภาพจิตชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000070

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -