ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สนธยา มณีรัตน์, แสงอรุณ อิสระมาลัย, บุญวดี เพชรรัตน์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลเด็กสมาธิสั้น

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6, เรื่อง สุขภาพจิต : ชีวิตชาวเมือง วันที่ 1-3 สิงหาคม 2550 ณ. โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพมหานคร หน้า 92.

รายละเอียด / Details:

โรคสมาธิสั้นเป็นโรคทางจิตเวชเด็กที่ก่อให้เกิดปัญหาทางพฤติกรรมและการเรียนของเด็ก วัยเรียนที่พบบ่อยที่สุด โดยเด็กจะมีลักษณะ ซน อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ และหุนหันพลันแล่น วู่วาม จึงทำให้เด็กเกิดปัญหาต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมักส่งผลกระทบในระยะยาว และทำให้มีภาวะแทรกซ้อนหรือปัญหาอื่นๆ ตามมา ด้วยเหตุดังกล่าวเด็กสมาธิสั้นจึงต้องการการดูแลจากผู้ดูแลในระยะแรก เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่างๆ และช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ และเป็นการป้องกันปัญหาหรือผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ดังนั้น ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาความสามารถของผู้ดูแลเด็กสมาธิสั้นในด้านต่างๆ เพื่อนำผลการศึกษาที่ได้ไปพัฒนาระบบบริการเพื่อพัฒนาความสามารถของผู้ดูแลต่อไป วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลเด็กสมาธิสั้น วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย (descriptive research) โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด คือเป็นผู้ดูแลที่นำเด็กสมาธิสั้นมารับบริการ และรับการรักษาด้วยยา ณ คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2549 - มกราคม 2550 จำนวน 103 คน โดยใช้เครื่องมือวิจัยที่เป็นแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบวัดความสามารถขงอผู้ดูแล ประกอบด้วยความสามารถในการดูแล 6 ด้าน คือ 1) การส่งเสริมการรับประทานอาหารและน้ำ 2) การป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายในชีวิตประจำวัน 3) การฝึกทักษะการช่วยเหลือตนเองและทักษะทางสังคม 4) การส่งเสริมการเรียน 5) การดูแลเพื่อให้ได้รับยาและการรักษาต่อเนื่อง และ 6) การจัดการกับปัญหาพฤติกรรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ด้วยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา กลุ่มตัวอย่างมีความสามารถในการดูแลเด็กสมาธิสั้นโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง และมีความสามารถรายด้านอยู่ในระดับสูงในด้านการดูแลเพื่อให้ได้รับยาและการรักษาต่อเนื่อง และด้านการป้องกันอุบัติเหตุและอันตรายในชีวิตประจำวัน ส่วนด้านอื่นๆ อยู่ในระดับปานกลางค่อนข้างสูง ข้อเสนอแนะ นำผลการศึกษาไปใช้ในการจัดระบบบริการสุขภาพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลเด็กสมาธิสั้นให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

Keywords: เด็กสมาธิสั้น, สมาธิสั้น, โรคจิตเด็ก, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์, โรคทางจิตเวช, พฤติกรรมของเด็ก, ความสามารถของผู้ดูแล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

Code: 200700096

ISSN/ISBN: 2859-497-X

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติ ครั้งที่ 6

Download: