ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล, ชวนันท์ ชาญศิลป์, วัชนี หัตถพนม, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์, จิดารัตน์ พิมพ์ดีด, คมชาย สุขยิ่ง, พรดุสิต คำมีสีนนท์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิต

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 1, 10-11 สิงหาคม 2538

รายละเอียด / Details:

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายเพื่อสร้างและทดสอบความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิต พิจารณาค่าความไวความจำเพาะ เปรียบเทียบกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ และเพื่อสร้างคู่มือการใช้แบบคัดกรองโรคจิตในภาคอีสาน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วย 510 คน และญาติผู้ป่วย 510 คน ที่มารับบริการ ณ กลุ่มงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ในวันที่ 4เมษายน–2พฤษภาคม2538 เลือกตัวอย่างเพื่อทำการศึกษาแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบคัดกรองโรคจิตที่สร้างขึ้นและจิตแพทย์หรือแพทย์(gold standard) ที่เคยปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น ไม่ต่ำกว่า 5ปี จำนวน 2 คน ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติตามแบบคัดกรองโรคจิต (ผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ เป็นนักเรียนมัธยมซึ่งไม่เคยปฎิบัติงานหรือเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยจิตเวชมาก่อนและผ่านการอบรมการใช้คู่มือ และแบบคัดกรองฯเป็นเวลา 1วัน) จากนั้นให้ผู้ป่วยและญาติพบแพทย์ 2 ครั้ง เพื่อวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคจิตหรือไม่ โดยแพทย์ 2 คน ไม่ทราบผลจากแบบคัดกรองโรคจิต ในกรณีแพทย์ มีความเห็นไม่ตรงกัน แพทย์จะปรึกษาหารือกันและสรุปผลลงความเห็นเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไป, ค่าความไว ความจำเพาะ คุณค่าของการทำนาย ความถูกต้องของการทดสอบและความชุกของโรคในการทดสอบความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์, หาจุดตัดที่เหมาะสมโดยใช้ ROC curve, หาค่าความน่าเชื่อถือในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ 2 คน โดยใช้ kappa statistic และ Mc nemar chi-square test ผลการวิจัยพบว่า จุดตัดที่เหมาะสมในการคัดกรองโรคจิต คือ 4 คะแนนโดยให้ค่าความไวร้อยละ 53.5 ความจำเพาะร้อยละ 83.1 แต่ถ้าเพิ่มคะแนนประวัติการรักษาอาการทางจิตในส่วนนี้อีก 1 คะแนน จุดตัดที่เหมาะสมยังคงเป็น 4 คะแนน เช่นเดิม แต่ค่าความไวเป็นร้อยละ66.3 ความจำเพาะ ร้อยละ 75.8 สำหรับจุดตัดที่เหมาะสมของเพศชายพบว่าเหลือเพียง 3 คะแนนโดยให้ค่าความไวร้อยละ 70.2 ความจำเพาะร้อยละ 73.4 และจุดตัดที่เหมาะสมของเพศหญิงอยู่ที่จุด 4 คะแนน โดยให้ค่าความไวร้อยละ52.6 ความจำเพาะร้อยละ 82.8 ความชุกของผู้ป่วยโรคจิตที่กลุ่มงานผู้ป่วยนอก ร้อยละ 59.4 ความสามารถในการคัดกรองโรคจิตทั้งฉบับ (11ข้อ) เท่ากับร้อยละ 77.88 ซึ่งมีความสามารถในการคัดกรองโรคจิตใกล้เคียงกันกับ 7 ข้อ (ได้แก่ ข้อ 1,2,3,4,5,7,8) เท่ากับร้อยละ 77.44 เมื่อศึกษาความน่าเชื่อถือของการวินิจฉัยโรคตรงกันของแพทย์ พบว่า ค่า Kappa statistic เท่ากับ 0.91 และเมื่อทำการทดสอบด้วย Mc nemar chi-square พบว่า แพทย์มีการวินิจฉัยโรคที่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 จากผลการศึกษาที่ได้ ควรนำแบบคัดกรองนี้ ไปทดลองใช้ในชุมชน เนื่องจาก ค่าความไว ความจำเพาะของแบบคัดกรองจะเปลี่ยนแปลงตามความชุกของโรคจิตได้

Keywords: psychiatry, psychosis, psychotic, schizophrenia, screening test, test, จิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, แบบคัดกรอง, แบบทดสอบ, แบบประเมิน, แบบวัด, โรคจิต, โรคจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201380001119

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -