ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชวนันท์ ชาญศิลป์, อภิชัย มงคล, ภัสรา เชษฐ์โชติศักดิ์, วัชนี หัตถพนม, พรดุสิต คำมีสีนนท์, คมชาย สุขยิ่ง, ธนิต โคตมะ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชนและความชุกของโรคจิต ณ บ้านดง ต.สำราญ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 1, 10-11 สิงหาคม 2538

รายละเอียด / Details:

เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตของ อภิชัย มงคลและคณะ(2538) เมื่อนำไปศึกษา ณ บ้านดง ต.โคกสำราญ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น และเพื่อศึกษาความชุกของโรคจิต ณ บ้านดง ฯ และเพื่อเปรียบเทียบความไว ความจำเพาะและคุณค่าการทำนายระหว่างแบบคัดกรองโรคจิตของกรมสุขภาพจิตและแบบคัดกรองโรคจิตของอภิชัย มงคล และคณะ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านดง 745 คน และญาติหรือเพื่อนบ้านใกล้ชิด 745 คน เครื่องมือในการวิจัยคือ แบบคัดกรองโรคจิตของ อภิชัย มงคล และคณะและจิตแพทย์หรือแพทย์ ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น 5 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน และใช้หลักการวินิจฉัยโรคตาม ICD 10 เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ จากนั้นสุ่มตัวอย่าง พบแพทย์เพื่อวินิจฉัย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,ทดสอบความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ โดยคำนวณหาค่าความไว ความจำเพาะคุณค่าของการทำนาย ความถูกต้องของการทดสอบและความชุกของโรคจิต,หาจุดตัดที่เหมาะสมโดยใช้ ROC curve ,หาค่าความน่าเชื่อถือในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ 2 คน โดยใช้ Kappa statistic และ Mc nemar chi - square test, หาความจำเพาะหาโดยตรงไม่ได้เนื่องจากมีข้อจำกัดที่แพทย์ไม่สามารถพบกลุ่มตัวอย่างได้ทุกคน จึงใช้วิธีคำนวณกลับเพื่อหาค่าความจำเพาะทางอ้อมแทน ผลการวิจัยพบว่าจุดตัดที่เหมาะสมในการคัดกรองโรคจิตในชุมชน คือ 1 คะแนน โดยให้ค่าความไวร้อยละ 75 ความจำเพาะร้อยละ 97.4 และถ้าเพิ่มคะแนนประวัติการรักษาอาการทางจิตอีก 1 คะแนน จะได้จุดตัดที่เหมาะสมที่ 1 คะแนนเช่นเดิม แต่ให้ค่าความไวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.3 ความจำเพาะร้อยละ 97 สำหรับความชุกของโรคจิต ณ บ้านดง ฯ เท่ากับร้อยละ 1.6 (โดยแพทย์ 2 คน ให้การวินิจฉัยโรค) ความน่าเชื่อถือของการวินิจฉัยโรคตรงกันของแพทย์ 2 คน พบว่าค่า Kappa statistic เท่ากับ 0.79 และเมื่อทำการทดสอบด้วย Mc nemar chi-square พบว่าแพทย์คนที่ 1 และแพทย์คนที่ 2 มีการวินิจฉัยโรคที่สอดคล้องกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 เมื่อเปรียบเทียบค่าความไว ความจำเพาะและคุณค่าการทำนายระหว่างแบบคัดกรองโรคจิตของกรมสุขภาพจิต (8 ข้อ) และแบบคัดกรองโรคจิตของอภิชัย มงคล และคณะ(11 ข้อบวกกับคะแนนประวัติการรักษาทางจิตอีก 1 ข้อ เป็น 12 ข้อ) พบว่าจุดตัดที่ 1 และ 2 คะแนน ให้ค่าความไว ความจำเพาะและคุณค่าของการทำนายที่ใกล้เคียงกัน แต่จุดตัดที่เหมาะสมตั้งแต่ 3 ถึง 6 คะแนน แบบคัดกรองโรคจิตของ อภิชัย มงคล และคณะ จะให้ค่าความไว ความจำเพาะที่มากกว่า จากผลการศึกษาที่ได้พบว่า สามารถนำแบบคัดกรองนี้ไปใช้ในการคัดกรองผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนได้ดี เนื่องจากมีค่าความไว และความจำเพาะค่อนข้างสูง ซึ่งมีประโยชน์มากในการค้นหาผู้ป่วยโรคจิตในชุมชนเพื่อให้ได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกต่อไป

Keywords: แบบคัดกรองโรคจิต, ความชุก, โรคจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ระบาดวิทยา, แบบคัดกรอง, psychiatry, psychiatric screening test, psychosis, prevalence, epidemiolgy

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201380001120

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -