ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: องุ่น พยุงธรรม

ชื่อเรื่อง/Title: ประเมินผลการดำเนินงานให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ปีงบประมาณ 2540-2544

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 193. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

กรมสุขภาพจิตมีนโยบายให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิตดำเนินงานจัดตั้งหน่วยบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เพื่อบรรเทาทุกข์ของประชาชนที่มีปัญหาสุขภาพจิต ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและสะดวกรวดเร็ว โรงพยาบาลศรีธัญญาจึงได้ดำเนินการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยมอบหมายให้กลุ่มงานการพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และมีบุคลากรทีมสหวิชาชีพหมุนเวียนทำหน้าที่ผู้ให้การปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้รับบริการเฉลี่ยเดือนละ 735 คน ลักษณะปัญหาที่มาปรึกษามีหลากหลาย ดังนั้นเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้บริการและวางแผนให้บริการได้เหมาะสม กลุ่มงานการพยาบาลจึงสำรวจการให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ ปีงบประมาณ 2540-2544 เพื่อประเมินผลการบริการโดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. ศึกษาลักษณะปัญหาของผู้รับบริการ 2. ศึกษาแนวโน้มของการรับบริการ วิธีการศึกษาประกอบด้วยการศึกษาเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา ความถี่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละและกราฟ ผลการศึกษา พบว่าปัญหาที่ผู้โทรศัพท์มาขอรับบริการปรึกษามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ ปัญหาครอบครัว ร้อยละ 15.27 ปัญหาการปรับตัวในสังคม/ความรัก ร้อยละ 14.75 ปัญหาการปรับตัวของผู้ป่วยจิตเวชร้อยละ 13.67 Silent call ร้อยละ 8.18 และปัญหาทางเพศ ร้อยละ 7.20 ส่วนที่เหลือเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพจิต บริการของโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนแนวโน้มของการรับบริการการปรึกษา พบว่ามีลักษณะค่อนข้างคงที่ ยกเว้นในปี พ.ศ. 2541 และปี 2542 มีผู้รับบริการมากกว่าปีอื่น เฉลี่ย 8.978 ราย/ปี ส่วนในปีอื่นเฉลี่ย 7,542 ราย/ปี สาเหตุอาจเนื่องจากในปี 2541 และปี 2542 เป็นปีที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจึงเป็นผลให้ประชาชนมีปัญหาโทรศัพท์มาปรึกษามากกว่าปีอื่น สรุปและข้อเสนอแนะ จากผลการดำเนินงานปัญหาที่พบมากที่สุดในทุกปี คือ ปัญหาครอบครัว ปัญหาการปรับตัว การเตรียมผู้ที่จะทำหน้าที่ให้การปรึกษาทางโทรศัพท์ให้มีความรู้ ความสามารถในเรื่องการให้การปรึกษาครอบครัว และปัญหาการปรับตัว เพื่อให้การปรึกษาเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างมาก ต้องมีการเตรียมความพร้อมในการให้บริการอย่างเพียงพอ นอกจากนี้จากการศึกษาเอกสารในครั้งนี้ พบว่า การบันทึกลักษณะปัญหาการจัดหมวดหมู่ของปัญหา ยังขาดความชัดเจน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนการบันทึก เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง

Keywords: บริการปรึกษา, ปัญหาสุขภาพจิต, จิตเวช, การพยาบาล สุขภาพจิต จิตเวช, บุคลากรพยาบาล, บริการ, ให้การปรึกษา, ปรึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: กลุ่มงานการพยาบาล โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 00000072

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -