ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงลักษณ์ สาตรา, ราณี ฉายอินทุ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาในเชิงป้องกันในผู้ป่วยคดีประทุษร้ายบุคคลในครอบครัว

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่องนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลนิติจิตเวชที่ศาลและตำรวจส่งมาตรวจวินิจฉัยสภาพจิต ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534-2538 จำนวน 93 ราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยจิตเวช ที่ประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวและเพื่อศึกษาสาเหตุของการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัว และเป็นแนวทางในการป้องกันการประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวด้วยวิธีการเก็บรวมรวมข้อมูลจากแฟ้มประวัติผู้ป่วยโดยใช้แบบบันทึกข้อมูลที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นจากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Micro Computer ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ โดยใช้ค่าสถิติร้อยละและค่าไคสแคว์ (chi-square) บรรยายประกอบตาราง จากผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจิตเวชที่ประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่เป็นโสด อยู่ในช่วงอายุ 31-40 ปี มีระดับการศึกษา ประถมศึกษา และไม่ได้เรียน มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลางและประกอบอาชีพรับจ้างโดยศาลเป็นผู้ส่งมาตรวจมากที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยแสดงอาการปรากฏให้เห็น ในด้านการเจ็บป่วยทางจิตพบว่า ส่วนใหญ่มีประวัติป่วยทางจิตมาก่อน และเคยได้รับการรักษาทางจิตเวช จากทางโรงพยาบาลจิตเวชมาก่อน แต่รับประทานยาไม่สม่ำเสมอ สำหรับลักษณะของคดีที่ประทุษร้ายบุคคลในครอบครัวพบว่า ส่วนใหญ่กระทำโดยการฆ่ามากที่สุด รองลงมาคือ สามี ภรรยา และลูกเมื่อพิจารณาเป็นรายบุคคลพบว่า ภรรยาถูกประทุษร้ายมากที่สุด รองลงมาคือญาติผู้ใกล้ชิดและพ่อแม่ มีเพียงรายเดียวที่ฆ่าทั้งพ่อและแม่ ส่วนใหญ่ใช้อาวุธมีด ฟัน แทง สำหรับปี ที่ทำการประทุษร้ายพบว่า ปี พ.ศ. 2538 มีจำนวนสูงที่สุด สำหรับสาเหตุของการประทุษร้ายพบว่าส่วนใหญ่เคยมีประวัติการทำร้ายบุคคลในครอบครัวมาก่อนและมีจำนวนไม่น้อยที่แสดงท่าทาง เจตจำนงว่าจะประทุษร้าย และพบว่าการเคยมีประวัติการประทุษร้ายมาก่อนมีผลต่อการประทุษร้ายในครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับค่า P‹0.05 และส่วนใหญ่มีเรื่องโกรธเคืองกันมาก่อน ซึ่งเกิดจากการยั่วยุทางอารมณ์ของบุคคลในครอบครัวโดยการดุด่าพูดจาประชดประชัน ซึ่งพบว่ามีผลต่อการประทุษร้ายในครั้งนี้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับค่า P<0.05 ซึ่งส่วนใหญ่ขาดการรักษา ไม่ยอมกินยาก่อนการประทุษร้าย ทำให้อาการทางจิตกำเริบขึ้น จากผลการศึกษาทางจิตวิทยาของผู้ป่วยจิตเวชพบว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ และมีพฤติกรรมก้าวร้าว มีแนวความคิดผิดปกติและมีบุคลิกภาพอ่อนแอ พึ่งผู้อื่น ถดถอยไม่สมวัย ส่วนผลการตรวจวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท

Keywords: family, forensic, forensic psychiatry, personality, psychiatry, psychology, psychosis, psychotic, schizophrenia, ครอบครัว, จิตเภท, จิตวิทยา, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นิติจิตเวช, บุคลิกภาพ, โรคจิต, โรคจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -