ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อัมพร รัตนวิทย์

ชื่อเรื่อง/Title: ความเครียดในครอบครัวของสตรีวัยทำงานจากบริการสายด่วนสุขภาพจิต โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในปี พ.ศ. 2529 และปี พ.ศ. 2539

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเครียดของสตรีวัยทำงานที่โทรศัพท์ปรึกษาบริการสายด่วนสุขภาพจิต ของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เปรียบเทียบในปี พ.ศ. 2529 และปี พ.ศ. 2539 ว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร อะไรเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ช่วงอายุใดโทรเข้ามาปรึกษามากที่สุด วิธีการ เลือกสุ่มกลุ่มตัวอย่างสตรีวัยทำงาน อายุ 20 - 60 ปี ที่โทรเข้ามาปรึกษา ในปี 2529 และปี 2539 ปีละ 100 ราย จากระเบียนการปรึกษาทางโทรศัพท์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แบ่งกลุ่มออกเป็นช่วงอายุละ 10 ปี เปรียบเทียบประเด็นปัญหาความเครียด และช่วงอายุ ผลการวิจัย พบว่าเรื่องเครียดของสตรีวัยทำงานที่โทรศัพท์ปรึกษามากที่สุด 3 อันดับแรก ในปี 2529 และปี 2539เป็นไปในทางเดียวกัน ได้แก่ ความเครียดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กที่เป็นปัญหาทางจิตใจ เช่น ลูกเป็นเกย์, ปัสสาวะรดที่นอน ร้อยละ 25 เครียดกับปัญหาสุขภาพจิตบุคคลในครอบครัว เช่น น้องป่วยเข้าโรงพยาบาล อยากเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 18 ปัญหาชีวิต เช่น สามีมีภรรยาหลายคน เพศสัมพันธ์ อยากมีบุตร ช่วงอายุที่โทรเข้ามามากที่สุด 31-40 ปี ระดับการศึกษาตั้งแต่ประถมศึกษา ถึงปริญญาโท ในปี 2539 การศึกษาระดับสูงจะโทรเข้ามามากกว่าในปี 2529 จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นมากในปีหลังนี้ด้วย สรุป จากการศึกษาครั้งนี้ พบว่าในรอบ 10 ปี ของการให้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ของโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ปี 2529 และปี 2539 สตรีวัยทำงาน โทรเข้ามาปรึกษาปัญหาเรื่องเครียดในครอบครัวเป็นไปในทางเดียวกันตามลำดับ คือ เรื่องพฤติกรรมของลูกที่เป็นปัญหาทางจิตใจ ปัญหาสุขภาพของคนในครอบครัวและตัวเอง อันดับสามคือ ปัญหาชีวิตคู่จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในปีหลังอันมาจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงวิธีคลายเครียดในครอบครัวก็เปลี่ยนไป สตรีวัยทำงานพึ่งบริการสายด่วนมากขึ้น

Keywords: family, hotline, psychiatry, stress, ครอบครัว, ความเครียด, เครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สตรี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

Code: 201390002006

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -