ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จำเนียร สตาเขตร์, เสวนีย์ พัฒนอมร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาภูมิหลังทางครอบครัว สภาพปัญหา และสาเหตุของนักเรียนที่เข้ารับการปรึกษาในโครงการโรงเรียนตัวอย่าง ทางสุขภาพจิต ศูนย์สุขวิทยาจิต

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะทราบถึงภูมิหลังทางครอบครัว สภาพปัญหาและสาเหตุแห่งปัญหาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ตัวอย่างที่ศึกษาคือ นักเรียนที่อาจารย์แนะแนวนำรายงานเข้ามาขอรับการปรึกษาในกิจกรรมการนิเทศวิธีการแก้ไขปัญหานักเรียนแก่ครู-อาจารย์ โรงเรียนมักกะสันพิทยา ของโครงการโรงเรียนตัวอย่างทางสุขภาพจิตระหว่างปีการศึกษา 2536-2538 จำนวนทั้งหมด 46 ราย โดยศึกษาจากแบบบันทึกประวัติการให้คำปรึกษาที่อาจารย์แนะแนวจัดทำขึ้นร่วมกับทีมสุขภาพจิตของศูนย์สุขวิทยาจิต ผลการศึกษาพบว่า นักเรียนกลุ่มที่ศึกษามีภูมิหลังครอบครัวที่มีปัญหาแตกแยกในครอบครัวถึงร้อยละ 56.52 มีปัญหาพฤติกรรม ได้แก่ ขาดเรียนบ่อย หนีเรียน ลักขโมย พูดปด ก้าวร้าว มากที่สุดร้อยละ 58.70 ส่วนสาเหตุของปัญหาพบว่า ปัจจัยโน้มเอียงที่ทำให้เกิดปัญหา (Predisposing factors) ได้แก่ การที่เด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผิดปกติ กล่าวคือการที่ต้องอยู่ในครอบครัวที่มีสภาวะพ่อแม่ผิดปกติ เช่น การที่เด็กต้องถูกเลี้ยงดูโดยญาติพี่น้อง หรือพ่อหรือแม่เพียงคนเดียว หรือการเลี้ยงดูโดยพ่อกับแม่เลี้ยง หรือแม่กับพ่อเลี้ยง หรือการเลี้ยงดูโดยพ่อแม่บุญธรรมอันเนื่องมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้างกันหรือแยกกันอยู่ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรม และมีสภาพครอบครัวที่ยากจนที่สุดร้อยละ 61.54 ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปัญหา (Precipitating factors) ได้แก่ การที่เด็กต้องอยู่ในครอบครัวที่มีสัมพันธภาพในครอบครัวที่ผิดปกติ เช่น การที่พ่อแม่ดุ เข้มงวด ชอบตำหนิ เปรียบเทียบ เหยียดหยาม ซ้ำเติม ลงโทษรุนแรง เป็นต้น ร้อยละ 59.65 แต่เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบถึงปัจจัยที่ส่งเสริมให้ปัญหายังคงอยู่ระหว่างกลุ่มที่ครอบครัวแตกแยก และครอบครัวไม่แตกแยก พบข้อน่าสังเกตว่าแม้เด็กจะมีสภาพครอบครัวที่แตกแยกหรือไม่แตกแยกก็ตาม มีปัจจัยที่เป็นเหตุส่งเสริมให้ปัญหายังคงอยู่ในทุก ๆ เรื่อง ใกล้เคียงกัน กล่าวคือทั้งสองกลุ่มมีสัมพันธภาพในครอบครัวที่ผิดปกติ เช่น พ่อแม่มักตำหนิเปรียบเทียบ ลงโทษลูกรุนแรง สูงที่สุดร้อยละ 37.04 และ 34.49 ตามลำดับ รองลงมาได้แก่การที่พ่อแม่ไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลลูก ร้อยละ 14.82 และ 20.69 ตามลำดับ

Keywords: การปรึกษา, ให้การปรึกษา, สุขภาพจิต, จิตวิทยา, นักเรียน, ภูมิหลังทางครอบครัว, mental health, counseling

ปีที่เผยแพร่/Year: 2533

Address: ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002011

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -