ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สาวิตรี สิทธิเวช, ลิษา ไกรคุ้ม, สุมาลี แตงเจริญ

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ ทัศนคติ และการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดสำหรับผู้ป่วยจิตเวชของพยาบาล โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาลโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ พยาบาลที่ปฏิบัติงานที่หอผู้ป่วย ในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา จำแนกเป็นพยาบาลวิชาชีพ 29 คน พยาบาลเทคนิค 31 คน รวม 60 คน ทำการศึกษาในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2538 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาโดยใช้แบบสอบถาม ผลของการศึกษาพบว่า 1. ด้านความรู้ พยาบาลมีประสบการณ์ ผ่านการอบรมหลักสูตรสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวช คิดเป็นร้อยละ 73.3 และผ่านการอบรมการทำกลุ่มกิจกรรมบำบัด คิดเป็นร้อยละ 23.3 โดยมีความรู้อยู่ในระดับต่ำ ปานกลาง และสูง เท่า ๆ กัน คือ คิดเป็น ร้อยละ 33.3 2. ด้านทัศนคติของพยาบาลต่อการทำกลุ่มกิจกรรมบำบัด ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 41.7 รองลงมาคือ ระดับต่ำ คิดเป็นร้อยละ 31.7 3. ด้านพฤติกรรมในการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาล ส่วนมากเฉลี่ยต่อเดือน เคยทำกลุ่มกิจกรรมบำบัดโดยแสดงบทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม ร้อยละ 63.3 บทบาท ผู้ช่วยผู้นำกลุ่ม ร้อยละ 64.9 และบทบาทเป็นผู้สังเกตการณ์ ร้อยละ 68.3 โดยกิจกรรมที่ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสอนสุขศึกษา ร้อยละ 53.3 รองลงมาได้แก่ กลุ่มอ่านหนังสือและวิจารณ์ข่าว และกลุ่มนันทนาการบำบัด ร้อยละ 33.4 เท่ากัน สำหรับระดับพฤติกรรมส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 41.7 4. การศึกษาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนความรู้ในการทำกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาล พบว่าประสบการณ์การทำงาน กลุ่มที่ทำงานในช่วง 1-8 ปี และ 9-15 ปี จะมีคะแนนเฉลี่ยความรู้สูงกว่ากลุ่มที่ทำงาน 16 ปีขึ้นไป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. การศึกษาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนทัศนคติของพยาบาล พบว่า วุฒิการศึกษาและการดำรงตำแหน่งที่แตกต่างกัน มีผลต่อค่าเฉลี่ยของคะแนนทัศนคติที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ 6. การศึกษาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมในการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาล ไม่พบความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีปัจจัยเกี่ยวกับงานแตกต่างกัน 7. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเกี่ยวกับงานกับระดับความรู้ ระดับทัศนคติ และระดับพฤติกรรมการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาล พบว่า วุฒิการศึกษาและการดำรงตำแหน่งมีความสัมพันธ์กับระดับทัศนคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% 8. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดของพยาบาล พบว่า ระดับทัศนคติมีความสัมพันธ์กับระดับพฤติกรรม การดำเนินกลุ่มกิจกรรมบำบัดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% แต่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความรู้กับระดับทัศนคติ และระหว่างระดับความรู้กับระดับพฤติกรรม ข้อเสนอแนะจากการศึกษาในระดับองค์กร ควรให้ผู้ปฏิบัติงานได้มีโอกาสได้รับการอบรมอย่างทั่วถึง และมีการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง โดยการอบรมควรมุ่งเน้นทั้งความรู้เชิงทฤษฎี การนำความรู้ไปปฏิบัติ และการฟื้นฟูสภาวะจิตใจ และอารมณ์ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติงาน นอกจากนั้นควรให้การสนับสนุนด้านวัสดุ อุปกรณ์ และการติดตามนิเทศอย่างต่อเนื่อง ในระดับบุคคลควรมีการกระจายบทบาทหน้าที่และประสานงานกัน เพื่อให้เกิดการทำงานเป็นทีม

Keywords: กลุ่มกิจกรรมบำบัด, ผู้ป่วยจิตเวช, พยาบาลจิตเวช, ทัศนคติ, attitude, psychiatric nurse, group therapy

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002012

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -