ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประภาส อุครานันท์, สุลี ตังกุ, ขนิษฐา บำเพ็ญผล, ราณี ฉายินทุ

ชื่อเรื่อง/Title: ความสำเร็จในการศึกษาประชาสัมพันธ์/กรณีนายพัน สายทอง

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2539 ข่าวหน้าหนึ่งได้ลงเรื่องราวของเด็กหญิงวัยเพียง 5 ขวบ ถูกข่มขืนและฆ่าตายภายในห้องน้ำโรงเรียนวัดรวกบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความสะเทือนใจให้แก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ต่อมามีการจับกุมคนร้ายได้ไม่กี่วันหลังเกิดเรื่อง ปรากฏว่ามาตรวจเป็นชาย มีประวัติเคยต้องโทษมาหลายครั้ง มีปัญหาในการใช้สารเสพติด หลังจากที่ออกจากคุกครั้งสุดท้ายก็ได้มาก่อคดีที่นับเป็นเรื่องร้ายแรงมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กหญิงตัวเล็ก ๆอีกทั้งขณะตอนถูกจับก็กำลังจะพยายามขโมยทรัพย์ผู้อื่นเพื่อนำเงินมาซื้อสารเสพติด ได้มีการวิพากษ์กันหลายกระแส ถึงสาเหตุของอาชญากรรมดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยได้มีบางกระแสตั้งข้อสังเกตถึงปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งอาจถึงขั้นผิดปกติอย่างมาก ดังนั้น โรงพยาบาลนิติจิตเวช ในฐานะเป็นโรงพยาบาลจิตเวชเฉพาะทางจึงได้จัดทีมนิติจิตเวชออกไปศึกษาหาความกระจ่าง และให้คำตอบที่ถูกต้องแก่สังคม นายพัน ผู้ต้องหาในคดีนี้เติบโตขึ้นในครอบครัวที่ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมได้รับการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป. 1 ไม่ได้ประกอบอาชีพที่แน่นอน ดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยสารเสพติด และเพื่อนที่มักชักชวนไปในทางเสียหาย อย่างไรก็ตาม นายพันไม่เคยมีอาการป่วยทางจิตที่คนรอบข้างจะสังเกตเห็นได้ หรือว่าเป็นมากขึ้น จนถึงขั้นต้องไปรับบริการทางจิตเวช ตรงกันข้ามกับประวัติการเจ็บป่วยทางจิตเวช นายพันมีประวัติต้องโทษมาถึงแปดครั้ง คดีเป็นคดีลักทรัพย์, ซ่องโจร, ผิด พ.ร.บ.สารเสพติด ครั้งหลังสุดจำคุก 3 ปี 4 เดือน ในคดีลักทรัพย์ เพิ่งได้รับการปล่อยตัวเพียง 7 วัน ก็ได้ก่อคดีข่มขืนและฆ่าเด็กหญิงวัย 5 ปีเสียแล้ว จากการไปพบปะพูดคุย ทั้งกับนายพัน, ครอบครัว รวมทั้งได้ให้นายพันทำแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยาด้วย ผลปรากฏว่า ไม่พบความผิดปกติทางจิต ถึงขั้นโรคจิต (psychosis) แต่มีความผิดปกติทางด้านบุคคลิกภาพ มีความก้าวร้าว, เก็บกด มีอารมณ์เศร้าและว่างเปล่าในชีวิต โรงพยาบาลนิติจิตเวช ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต ที่เปิดให้บริการมา 25 ปีแล้ว คดีดังกล่าวนับเป็นปัญหาความรุนแรงของสังคม ที่เกิดจากสภาพจิตใจของคนที่เสื่อมลง ที่ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของงานนิติจิตเวช อันจะก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ในการช่วยเยียวยาและแก้ไขปัญหาสังคม และที่สำคัญที่สุด หวังให้ประชาชนคนไทยได้อยู่ในสังคมอย่างผาสุขต่อไป

Keywords: เด็กหญิง, ข่มขืน, ฆ่าผู้อื่น, จิตวิทยา, ปัญหาทางจิตเวช, จิตเวช, นิติจิตเวช, ทีมจิตเวช, สารเสพติด, คดี, psychiatry, homecide, mental health problem

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลนิติจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002020

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -