ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อินทิรา พัวสกุล, ปทุมทิพย์ สุภานันท์, สุวัฒนา ศรีพื้นผล, เสาวนีย์ พัฒนอมร, จำเนียร สตาเขตร์, บัณฑิตย์ ศรไพศาล, วีณา อินทรียงค์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลโครงการโรงเรียนตัวอย่างทางสุขภาพจิต

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

โครงการโรงเรียนตัวอย่างทางสุขภาพจิตของศูนย์สุขวิทยาจิตมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้เด็กในโรงเรียนได้รับการดูแลและช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม โดยดำเนินการลักษณะเชิงทดลอง ในโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพฯ ระหว่างปี 2536 - 2538 ประกอบด้วย 1. การอบรมสัมมนาครูเรื่อง สุขภาพจิตและเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่ครูทั้งโรงเรียน จำนวน 102 คน ปีละ 1 ครั้ง ๆ ละ 3 วัน 2. การอบรมพัฒนาบุคลิกภาพโดยเสริมสร้างวิธีการสื่อสารในเด็กวัยรุ่น แก่นักเรียนตัวแทนห้อง ม. 1 และ ม. 4 ปีละ 2 รุ่น ๆ ละ 24 คน รวม 144 คน 3. การวิจัยหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาเด็กวัยรุ่นกับความสัมพันธ์ในครอบครัว 4. การสัมมนาผู้ปกครองเรื่องเลี้ยงลูกอย่างไรให้เรียนเก่ง จัดให้แก่ พ่อ - แม่ ผู้ปกครองของนักเรียน ม.1 และ ม.4 ปีละ 1 ครั้ง 5. การค้นหาและเฝ้าระวังเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาในระยะเริ่มแรก ด้วยการใช้แบบสำรวจปัญหาพฤติกรรม 6. การบรรยายพิเศษแก่ครู 7. การส่งเสริมเจตคติเพื่อป้องกันเอดส์ในเด็กนักเรียน ม.1 - ม.6 8. การนิเทศวิธีการแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน 9. การจัดประชุมวิชาการร่วมกับทางโรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน เมื่อโครงการสิ้นสุดในปีที่ 3 ทำการประเมินผลโดยใช้แบบสอบถามเจตคติครู นักเรียน และผู้ปกครอง แบบสัมภาษณ์ครูที่ได้ให้การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต ผลการประเมินพบว่าครู นักเรียน และผู้ปกครอง ส่วนใหญ่มีเจตคติต่อปัญหาและการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตในระดับดี = 3.13, 3.10 และ 3.04 ตามลำดับ ส่วนตัวแปรด้านเพศ อายุ ประสบการณ์ ทำงานการมีความรู้สุขภาพจิตก่อนเข้าอบรม การเคยให้ความช่วยเหลือด้านสุ่ขภาพจิตนักเรียนและประเภทของครู เพศ อายุ ระดับชั้นเรียนของนักเรียน ความเกี่ยวข้องในการเป็นบิดา มารดา หรือญาติ อาย ุเพศ การศึกษา และอาชีพของผู้ปกครองไม่ทำให้เจตคติต่อปัญหาและการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแตกต่างกัน ณ ระดับความเชื่อมั่น 0.06 จากการสัมภาษณ์ครูผู้ให้การช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาส่วนใหญ่สามารถวิเคราะห์และรู้ปัญหาจริงของเด็ก (69.44%) อยากช่วยเหลือ (94.44%) และรู้สึกว่าเป็นไปได้ที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น (88.89%) ส่วนวิธีการช่วยเหลือครูส่วนใหญ่ใช้วิธีการให้คำปรึกษาให้เด็กตัดสินใจแก้ปัญหาและให้กำลังใจ (91.44%) หลังจากให้การช่วยเหลือแล้ว เด็กส่วนใหญ่ให้ความไว้วางใจต่อครู (69.44%) และมีครูส่วนใหญ่ระบุว่าได้ความรู้เรื่องการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตนักเรียนจากโครงการ (87.84%) ข้อเสนอแนะ กิจกรรมในการดำเนินงานสุขภาพจิตในโรงเรียนที่สำคัญคือ การพัฒนาความรู้สุขภาพจิตและทักษะการให้คำปรึกษาแก่ครู แต่จะต้องปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะกับแต่ละโรงเรียน และควรแสวงหาช่องทางอื่น ๆ อีก นอกจากครอบครัวและโรงเรียนเพื่อให้เกิดการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตนักเรียน คือ องค์ของชุมชน เช่น กลุ่มผู้นำ หมู่บ้าน พระสงฆ์ กลุ่มแม่บ้าน และที่สำคัญงานสุขภาพจิตในโรงเรียนควรได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายของทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีผลต่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

Keywords: สุขภาพจิต, โครงการโรงเรียนตัวอย่างทางสุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002023

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -