ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จินตนา หะรินเดช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสภาวะสุขภาพจิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 18-20 กันยายน 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาสภาวะสุขภาพจิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะสุขภาพจิต อัตราความชุกของปัญหาสุขภาพจิต ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อสภาวะสุขภาพจิต ความสัมพันธ์ระหว่างระดับตะกั่วในเลือดกับสภาวะสุขภาพจิต และความสัมพันธ์ระหว่างระดับตะกั่วในเลือดกับความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว โดยกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นผู้ใช้แรงงาน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานประกอบแบตเตอรี่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีแห่งเดียวในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 44 คน ด้วยแบบสอบถามที่ สร้างขึ้น แบบทดสอบ SCL - 90 และแบบทดสอบเชาวน์ปัญญา Raven progressive Matrices ชุด A,B,C,D,E การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป EPIINFO เวอร์ชั่น 6 ใช้ค่าสถิติร้อยละ ,X,S,D, และค่าสหสัมพันธ์ ( r ) และ Non-Parametric Statistic ด้วยการทดสอบมัธยฐานแล้วทดสอบไคสแควร์ ที่แก้เกี่ยวกับค่าต่อเนื่องเรียบร้อยแล้ว สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1. ลักษณะทั่วไปของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว พบว่าเป็นเพศชาย ร้อยละ 93.20 ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 21-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 79.60 โดยมีอายุเฉลี่ย 28.20 ปี ร้อยละ 84.10 จบระดับประถมศึกษา มีระยะเวลาปฏิบัติงานอยู่ในโรงงานแบตเตอรี่น้อยกว่า 5 ปี ร้อยละ 50.00 รองลงมามีระยะเวลาปฏิบัติงานนาน 11-15 ปี คิดเป็น ร้อยละ 25.00 และมีระยะเวลาเฉลี่ยของการปฏิบัติงาน 7.41 ปี ร้อยละ 81.80 ของผู้ใช้แรงงานไม่มีโรคประจำตัว 2. ปัจจัยที่มีผลต่อสภาวะสุขภาพจิต พบว่า ผู้ใช้แรงงานปฏิบัติงานสัมผัสกับ สารตะกั่ว ร้อยละ 88.60 มีภาวะการเจ็บป่วยบ้างและมีประวัติการเจ็บป่วยภายใน 6 เดือนที่ผ่านมาจนต้องรักษาในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย ร้อยละ 38.60 ผู้ใช้แรงงานร้อยละ 86.40 ปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่วโดยตรงและร้อยละ 86.40 คิดว่ามีสารเคมีที่เป็นอันตรายในการทำงาน ส่วนการป้องกันอันตรายจากสารเคมีร้อยละ 61.40 ของผู้ใช้แรงงานปฏิบัติตามวิธีการป้องกันทุกกรณี จำนวนครึ่งหนึ่งของผู้ใช้แรงงานมีเชาวน์ปัญญาอยู่ในระดับปกติ และร้อยละ 75.10 มีระดับตะกั่วในเลือดมากกว่า 60 ไมโครกรัมต่อ 100 มิลลิลิตรขึ้นไป โดยมีค่าเฉลี่ยระดับตะกั่วในเลือด 67.34 (+12.42) 3. สภาวะสุขภาพจิตของผู้ใช้แรงงานซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว พบว่า 3.1 ค่าเฉลี่ยของคะแนน สภาวะสุขภาพจิตทุกด้านอยู่ในเกณฑ์ปกติ (T score 40-60) 3.2 ความชุกของปัญหาสุขภาพจิตพบว่ามีถึงร้อยละ 45.45 หรืออัตราความชุก 0.45 3.3 สภาวะสุขภาพจิตแต่ละด้าน พบมีความผิดปกติของสภาวะสุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติด้านร่างกายมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 34.09 และรองลงมาเป็นความรู้สึกกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผลและความรู้สึกซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 15.91 และ 13.64 ตามลำดับ 4. ลักษณะทั่วไปที่มีผลต่อสภาวะสุขภาพจิต พบว่า สภาวะสุขภาพจิตแต่ละด้านไม่มีความแตกต่างกันตามลักษณะทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น คะแนนสภาวะสุขภาพจิตด้านความวิตกกังวลมีความแตกต่างกันตามระยะเวลาปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ปัจจัยที่มีผลต่อสภาวะสุขภาพจิต พบว่า สภาวะสุขภาพจิตแต่ละด้านไม่มีความแตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น 5.1 คะแนนสภาวะสุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติด้านร่างกายมีความแตกต่างกันตามสุขภาพร่างกายทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5.2 คะแนนสภาวะสุขภาพจิตด้านความรู้สึกซึมเศร้ามีความแตกต่างกันตามประวัติการเจ็บป่วยภายใน 6 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 5.3 คะแนนสภาวะสุขภาพจิตด้านความรู้สึกกลัวสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยไม่มีเหตุผลมีความแตกต่างกันตามความคิดเกี่ยวกับอันตรายจากสารเคมีในการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6. ความสัมพันธ์ ระหว่าง ระดับตะกั่วในเลือด และ คะแนนความสามารถทางเชาวน์ปัญญาของผู้ใช้แรงงานซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว พบว่า ค่าสหสัมพันธ์ ( r ) เท่ากับ -0.02 แต่ถ้าพิจารณาผู้ใช้แรงงานที่มีระดับตะกั่วในเลือด ตั้งแต่ 40 ไมโครกรัมขึ้นไป พบว่า ค่าสหสัมพันธ์เพิ่มขึ้น เป็น 0.07 7. ความสัมพันธ์ระหว่างระดับตะกั่วในเลือดและคะแนนสภาวะสุขภาพจิตแต่ละด้านของผู้ใช้แรงงานซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสกับสารตะกั่ว พบว่า มีค่าสหสัมพันธ์ ( r ) เท่ากับ -0.08 ถึง 0.15

Keywords: ผู้ใช้แรงงาน, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201390002032

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -