ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมพร รุ่งเรืองกลกิจ

ชื่อเรื่อง/Title: ประสบการณ์ชีวิตของครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังและสถานการณ์ของชุมชน

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 209. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การนำเสนอผลการวิจัย เรื่องประสบการณ์ชีวิตของครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังที่บ้าน และสถานการณ์ของชุมชน มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายสถานการณ์ในครอบครัวที่มีผู้ป่วยทางจิตเรื้อรัง และการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังในชุมชน สถานการณ์ของชุมชนที่มีต่อการดูแลผู้ป่วยทางจิตเรื้อรัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยทางจิตเรื้อรังในชุมชน สถานที่ศึกษาคือ ชุมชนกึ่งเมือง กึ่งชนบท แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเป็นผู้ป่วยทางจิตที่ใช้สารเสพติดหรือดื่มสุรา จำนวน 9 ครอบครัว ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกับครอบครัวที่ศึกษา สนทนากลุ่มกับเพื่อนบ้าน สนทนากลุ่มกับผู้นำชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง และการสังกต บันทึกภาคสนาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาเบื้องต้นเพบว่า ญาติเชื่อว่าสาเหตุของการเจ็บป่วยเรื้อรังเกิดจาก การใช้สารเสพติด/เหล้า มีปัญหาส่วนตัว ญาติต้องคอยดูแลผู้ป่วยเรื่องกิจวัตรประจำวัน การกินยา ตลอดจนความปลอดภัยของผู้ป่วย ญาติบางคนเชื่อว่า ถ้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจะทำให้ผู้ป่วยหายได้ ขณะที่บางครอบครัวไม่คิดว่าผู้ป่วยต้องรักษาเพราะกินแต่เหล้า ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัวคือ เป็นภาระ เบื่อหน่าย และกลัวผู้ป่วยจะทำร้าย รายได้ของครอบครัวลดน้อยลง อย่างไรก็ตามบางครอบครัวบอกว่า อาการของผู้ป่วยไม่แน่นอน หากผู้ป่วยทำงานได้ก็รู้สึกไม่เป็นภาระ ญาติกังวลว่า ผู้ป่วยอาจถูกคนในชุมชนทำร้าย เนื่องจากผู้ป่วยมักทำความรำคาญให้กับชุมชน ชุมชนมองว่าผู้ป่วยบางคนทำให้เพื่อนบ้านกลัว รำคาญ รู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางคนก็รู้สึกไม่ปลอดภัยขณะอยู่เวร บางชุมชนไม่รู้สึกว่าผู้ป่วยต้องได้รับการช่วยเหลือจากชุมชนเพราะพฤติกรรมของผู้ป่วยเป็นธรรมดา ขณะที่บางชุมชนมองว่า ชุมชน ครอบครัว และโรงพยาบาลของรัฐต้องร่วมมือกัน และเห็นว่าผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับความยุติธรรมจากนายจ้าง ในขณะเดียวกัน ผู้ป่วยบางคนก็ทำงานไม่คุ้มต่อการลงทุนของนายจ้าง ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้นสนับสนุนว่าทัศนคติการรับรู้ของชุมชนต่อผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้อยู่ในชุมชนได้อย่างมีคุณภาพ

Keywords: ครอบครัว, ผู้ป่วยโรคจิตเรื้อรัง, จิตเวช, ผลกระทบ, ชุมชน, ประสบการณ์ชีวิต ครอบครัว ผู้ป่วยทางจิตเรื้อรัง, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 00000075

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -