ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นฤมล ศรีทานันท์, จิรังกูร ณัฐรังสี, สิรินาฎ มั่นคง

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนของครูในโรงเรียนมัธยมในเขตเมืองอุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนของครูมัธยมในเขตเมืองอุบลราชธานีและเพื่อทราบความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ (ตัวแปรอิสระ) ที่มีต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนของครูมัธยมในเขตเมืองอุบลราชธานี วิธีการ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นครูมัธยมในเขตอำเภอเมือง อุบลราชธานี สุ่มตัวอย่างแบบ Multi Stage Sampling ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 340 คนเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นของครูต่อนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต จำนวน 15 ข้อ แบบทดสอบความรู้เรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่น จำนวน 30 ข้อ และแบบสอบถามการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน จำนวน 25 ข้อ ซึ่งแบบสอบถามและแบบทดสอบได้หาค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร Cronbach Alpha Coefficeient ได้ค่าความเที่ยง 0.7589, 0.8973 และ 0.8894 ตามลำดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test , F-test หาค่าสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระ 14 ตัว กับการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน (ตัวแปรตาม) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ ผลที่ได้ 1. ตัวแปรอิสระที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ การมีโอกาสไปศึกษาดูงานด้านสุขภาพจิต ทัศนคติของครูต่อปัญหาสุขภาพจิตนักเรียน จำนวนสมาชิกในครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ระดับการศึกษาของครูและการได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิต 2. กลุ่มครูที่รับทราบว่าโรงเรียนมีนโยบายการส่งเสริมสุขภาพจิตมีค่าเฉลี่ยคะแนนการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน ดีกว่ากลุ่มครูที่ไม่ทราบว่ามีนโยบายการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.5 3. ครูที่ได้รับการสนับสนุนจากครูคนอื่นในการจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนสูงกว่าครูที่ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ครูที่มีความพึงพอใจในวิชาชีพครู มีคะแนนเฉลี่ยการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนสูงกว่าครูที่ไม่มีความพึงพอใจในวิชาชีพครู อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ทัศนคติของครูที่มีต่อปัญหาสุขภาพจิตนักเรียนมีความสัมพันธ์กับการส่งเสริมสุขภาพจิตในโรงเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Keywords: สุขภาพจิต, นักเรียน, ครู, mental health, student

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 20140004098

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -