ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุดม เพชรสังหาร และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ประสบการณ์การดำเนินงานพัฒนาหมอดูเพื่อการดูแลสุขภาพจิตประชาชน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การพัฒนาหมอดูเพื่อการดูแลสุขภาพจิตประชาชน เกิดจากข้อสังเกตที่พบว่าการใช้บริการหมอดูเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมานานและพบเห็นประจำในสังคมไทย โดยเฉพาะในระยะที่ประเทศไทยเผชิญภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ พบว่าหมอดูมีผู้ใช้บริการมากขึ้น ประกอบกับนโยบายในการพัฒนางานบริการสุขภาพจิตตามแนวทางดังกล่าว โดยหวังว่าหมอดูซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพในชุมชนจะสามารถเป็นผู้ให้บริการสุขภาพจิตเบื้องต้นแก่ชุมชนได้ วิธีการ ขั้นตอนในการดำเนินงานได้แก่ การค้นหาแกนนำหมอดูด้วยวิธีสังคมิติ (Sociogram) การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนกระบวนการพัฒนาโครงการด้วยการทบทวนวรรณกรรม การสำรวจความคิดเห็นและทัศนคติของหมอดูต่องานสุขภาพจิต สำรวจภาวะสุขภาพจิต ผู้ใช้บริการหมอดู และสำรวจทัศนคติของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตที่มีต่อการให้บริการสุขภาพจิต แก่ประชาชนของหมอดูการประชุมแกนนำหมอดูเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางและเนื้อหาในการดำเนินโครงการ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าทักษะที่จะต้องพัฒนาให้หมอดู คือ “ทักษะการให้คำปรึกษา” โดยจัดในรูป กลุ่มสนทนา (Focus group) ระหว่างหมอดูและนักวิชาการสุขภาพจิตและได้มีการทดลองใช้หลักสูตร ผลที่ได้ ในการทดลองใช้หลักสูตร ใช้เวลา 1 วัน โดยสมาชิกที่เข้าร่วมประกอบด้วยหมอดู 7 คน นักวิชาการสุขภาพจิต 4 คนผลการทดลองใช้หลักสูตรพบว่า เนื้อหาที่กำหนดไว้ไม่สามารถแยกเป็นประเด็นออกจากกันได้อย่างชัดเจนเนื่องจากเนื้อหามีความต่อเนื่องและคาบเกี่ยวกันมาก สมาชิกที่เข้าร่วมการสัมมนามองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิชาโหราศาสตร์และสุขภาพจิต แต่หมอดูยังไม่เกิดความประทับใจ (Appreciate) ในหลักการให้คำปรึกษา มีหมอดูบางรายที่มองเห็นประโยชน์ของการนำหลักของการให้คำปรึกษาไปใช้ในการทำงานของตน หมอดูทั้งหมดมีความเชื่อมั่นในศาสตร์ของตนว่าสามารถให้คำตอบหรือให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้ เมื่อจบการสัมมนามีการมอบเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาให้หมอดูเพื่อศึกษาด้วยตนเอง สรุปและข้อเสนอแนะ การติดตามหลังการสัมมนาเป็นการประเมินเอกสารที่มอบให้หมอดูศึกษาด้วยตนเองและผลที่เกิดกับหมอดูพบว่าหมอดูได้รับประโยชน์จากเนื้อหาในเอกสาร แต่มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหาและรูปแบบให้เหมาะสมกับหมอดูยิ่งขึ้น มีหมอดู 1 คน ได้เสนอแนวทางในการดำเนินงานและพัฒนาเครือข่ายต่อโดยให้ศูนย์สุขภาพจิต 3 เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณบางส่วน บทเรียนที่ได้จากการดำเนินงานครั้งนี้ คือวิธีการทำงานกับประชาชนหรือองค์กรท้องถิ่นที่ต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะปรับตัว การรู้จักเปิดใจให้กว้างการยอมรับและเคารพในศักยภาพของบุคคลที่เราทำงานด้วย

Keywords: ทัศนคติ, สุขภาพจิต, บริการสุขภาพจิต, หมอดู, จิตวิทยา, attitude, psychology, mental health service

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 3 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004047

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -