ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรวรรณ จุฑา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้ายในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษาปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้ายในจังหวัดแห่งหนึ่งทางภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพปัญหา ระบบข้อมูล ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และแนวทางในการเฝ้าระวังที่เหมาะสมสำหรับปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้าย วิธีการ ศึกษาจากรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีในสถานีตำรวจภูธรอำเภอและสถานีตำรวจภูธรตำบลในจังหวัดนั้น เฉพาะคดีกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มประทุษร้ายต่อร่างกายและเพศ ในปี 2540 ทั้งหมด 335 คดีโดยใช้แบบเก็บข้อมูล ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลของเหยื่อ ข้อมูล ผู้ทำร้าย และข้อมูลวิธีการทำร้ายร่างกาย ผลที่ได้ เนื่องจากปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้ายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรง และไม่มีการศึกษาที่จริงจัง นักปกครองผู้บริหารด้านสาธารณสุข นักวิชาการในจังหวัดให้ความสนใจและมีความเห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานควรร่วมกันแก้ไขและป้องกัน ดังนั้นในการศึกษาฐานข้อมูลต่าง ๆ ในจังหวัด การเก็บข้อมูล การร่วมวิจารณ์และเสนอแนะผลการศึกษาเบื้องต้นจึงเป็นการทำงานร่วมกันของกรมสุขภาพจิต กองระบาดวิทยา สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นักปกครอง ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข นักวิชาการในจังหวัด ลักษณะเบื้องต้นของปัญหา พบว่า มูลเหตุจูงใจเกิดจากการทะเลาะวิวาท โกรธแค้นในอดีต ความต้องการทางเพศ ปัจจัยเสี่ยงขณะเกิดเหตุเกิดจากการทะเลาะวิวาท บันดาลโทสะ ดื่มสุรา เหตุเกิดมากในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ในวันจันทร์และวันศุกร์ เวลา 18.00 -03.00 น. วิธีการทำร้ายจะใช้อวัยวะของร่างกาย ยิง และข่มขืน ผู้ทำร้ายกับเหยื่อเป็นคนรู้จักกัน จุดเกิดเหตุเป็นบ้านเหยื่อ ถนนและทางหลวง (ผลที่ได้ที่เป็นข้อมูลผลการศึกษาเบื้องต้น ยังไม่สามารถเผยแพร่และอ้างอิงได้) สรุปและข้อเสนอแนะ 1. การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาในเชิงระบาดวิทยา ข้อมูลได้จากแหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียว ในกรณีต้องการศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้าย ควรใช้ข้อมูลจากรายงานหลาย ๆ ชนิดประกอบกัน เช่น รายงานคดีอาญา หรือคดีอุกฉกรรจ์ สมุดสารบบการดำเนินคดีอาญาทั่วไป และสำนวนคดีที่คดีสิ้นสุดแล้ว 2. ควรศึกษาในเชิงลึกด้านสังคมวิทยา วัฒนธรรม และจิตวิทยา รวมทั้งประเด็นที่มาของการทะเลาะเบาะแว้งและการโกรธแค้น 3. ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้าย ทุกหน่วยงานในจังหวัด (ด้านสาธารณสุข นักปกครอง ตำรวจ นักวิชาการ เป็นต้น) ต้องร่วมมือประสานการทำงานกัน

Keywords: ปัญหาการถูกฆ่าและถูกทำร้าย, ระบาดวิทยา, ปัญหาสังคม, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, ความรุนแรง, พฤติกรรมก้าวร้าว, psychology, violence, violent behavior

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: กองแผนงาน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004048

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -