ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรารัตน์ ว่องอภิวัฒน์กุล, พรทิพย์ วงศ์สุบรรณ, พรทิพย์ โพธิครูประเสริฐ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลกระทบของ Fullmoon Party ต่อชุมชนในอำเภอเกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ Fullmoon Party เป็นกิจกรรมการสังสรรค์รูปแบบหนึ่งที่นักท่องเที่ยงชาวต่างชาติได้นำเข้ามาเผยแพร่และจัดขึ้นที่อำเถอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ประมาณ 10 ปีแล้ว โดยจะจัดขึ้นในช่วงที่มีพระจันทร์เต็มดวง ขึ้น 15 ค่ำของทุกเดือน ณ บริเวณชายหาด กิจกรรมของงาน มีการแสดงออกทางเพศที่เปิดเผย ดนตรีเสียงเร้าใจ การใช้ยาเสพติดประเภทต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสังคมไทย การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม-วัฒนธรรม และเยาวชน วิธีการ เป็นการศึกษาเชิงคุณ ภาพใช้วิธีการศึกษา 4 รูปแบบคือ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Participant Observation) ในกิจกรรมบนชายหาด การสัมภาษณ์เชิงลึก (Indept Interview) กับผู้นำชุมชน ประชาชน และผู้ที่เกี่ยวข้อง การจัดกลุ่มสนทนา (Focus group Discussion) กับเยาวชน และ การศึกษาข้อมูล เอกสารที่มีในชุมชน ผลที่ได้ พบว่า Fullmoon Party มีผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างมาก การที่มีชาวต่างชาติจำนวนมากกว่า 5,000 คน เข้ามาอยู่ในบริเวณชายหาด มีการใช้จ่ายครั้งละ 200 US$/คน มีผลต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เรือ รถประจำทาง บังกะโล ร้านค้า อาหาร ของที่ระลึก หมอนวดชายหาด โดยเฉพาะ 3 วัน ก่อนและหลังงานธุรกิจสะพัดมาก รายได้คืนละ 2,000 - 100,000 บาท/คืน ผลกระทบทางด้านสังคม-วัฒนธรรมการใช้สิ่งเสพติดมาก มีคดีลักขโมยมากขึ้น รูปแบบการทำบุญเปลี่ยนไป มีการใช้เงินช่วยมากกว่าเข้ากิจกรรมทางศาสนา การบวชน้อยลง มีการเลียนแบบชาวต่างชาติในเรื่องอาหาร การแต่งกาย การใช้สิ่งเสพติด คนในชุมชนมีการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ผลกระทบต่อเยาวชนในกลุ่มของเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน พบว่าเสียงดังมีผลต่อการเรียน มองวัฒนธรรมตะวันตก เช่น การกอดจูบในที่สาธารณะเป็นสิ่งไม่ดีมีการเลียนแบบเรื่องอาหารและการแต่งกายบ้าง แต่ภาพรวมของประชาชนยังมองว่าไม่มีผลเสียต่อเยาวชนกลับมีผลดีในเรื่องของภาษาอังกฤษ ช่วยให้เยาวชนสามารถโต้ตอบกับชาวต่างชาติได้ดีขึ้น สรุปและข้อเสนอแนะ การจัดกิจกรรม Fullmoon Party มีผลต่อเศรษฐกิจของชุมชนเกาะพะงันในขณะเดียวกันก็มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม วัฒนธรรม และเยาวชนในแนวทางที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องควรดูแลจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมสังคมไทย เพื่อป้องกันปัญหายาเสพติด ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

Keywords: fullmoon party, psychology, sexual deviation, sexual abuse, sex, behavior, พฤติกรรม, ชุมชน, การแสดงออกทางเพศที่เปิดเผย, เพศ, วัฒนธรรม,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004049

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -