ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุดม เพชรสังหาร, สกุลรัตน์ จารุสันติกุล, มณฑา จันโทริ, จันทนา มาศธนพันธ์

ชื่อเรื่อง/Title: ทัศนคติของบุคลากรสุขภาพจิตที่มีต่อการให้บริการสุขภาพจิตแก่ประชาชนของหมอดู

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาทัศนคติของบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตที่มีต่อการให้บริการสุขภาพจิตแก่ประชาชนของหมอดู 2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวิชาชีพ และทัศนคติที่มีต่อการให้บริการสุขภาพจิตแก่ประชาชนของหมอดู 3. เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการพัฒนาเครือข่ายหมอดูในเรื่องการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน วิธีการ เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการส่งแบบสอบถามที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้น ไปให้กลุ่มตัวอย่างทางไปรษณีย์ กลุ่มตัวอย่างเป็นบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากแบบสอบถามที่ส่งไป 467 ฉบับ ได้รับการตอบกลับ 381 ฉบับ (ร้อยละ 81.58) ผลที่ได้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุเฉลี่ย 34 ปี ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตมาแล้วเฉลี่ย 6.7 ปี เป็นกลุ่มพยาบาลวิชาชีพและพยาบาลจิตเวชมากที่สุด ส่วนใหญ่ปฏิบัติหน้าที่ที่อยู่ในหน่วยให้บริการผู้ป่วย และร้อยละ 85.8 เคยมีประสบการณ์ในการดูหมอ โดยเหตุผลของการไปดูหมอ ร้อยละ 77.9 อยากลอง ร้อยละ 62.9 อยากดูฤกษ์ยามเพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบกิจกรรมบางอย่าง เรื่องที่นำไปถามหรือปรึกษาหมอดูส่วนใหญ่ตอบว่าทำให้มีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตมากขึ้น สบายใจขึ้น ในส่วนทัศนคติของกลุ่มตัวอย่างต่อการให้บริการสุขภาพจิตของหมอดูพบว่าส่วนใหญ่มีทัศนคติในเชิงบวก ได้แก่ เห็นด้วยว่าหมอดูช่วยบรรเทาความทุกข์ใจ เป็นที่พึ่งทางใจให้กับประชาชนได้และหมอดูสามารถจะเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่มีคุณภาพได้ถ้าได้รับการพัฒนาวิชาการสุขภาพจิตเพิ่มเติม แต่ก็ยังมีทัศนคติในเชิงลบบางประการ ได้แก่ การมีทัศนะว่าหมอดูเป็นอาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์ได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สรุปและข้อเสนอแนะ 1. การใช้กระบวนการพัฒนาหมอดูให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตเป็นไปได้เพราะบุคลากรสาธารณสุขให้การยอมรับในระดับหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าบุคลากรสาธารณสุขยังไปขอใช้บริการหมอดูและพบว่าตนได้รับประโยชน์จากบริการดังกล่าว 2. จุดที่ต้องระมัดระวังในการทำงานกับหมอดูประการหนึ่งคือ การที่บุคลากรสาธารณสุขไม่เห็นด้วยว่าหมอดูสามารถเข้าถึงปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทัศนะเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่บั่นทอนการทำงานร่วมกันระหว่างหมอดูและบุคลากรสาธารณสุขได้ ถ้าพัฒนาให้เกิดการทำงานร่วมกันบุคลากรสาธารณสุขคงจะต้องให้การยอมรับและเคารพต่อระบบการทำงานของเขาพร้อมทั้งต้องยอมรับความหลากหลายในบริการที่มีอยู่ในสังคม 3. การที่ยังมีบุคคลที่มีความคิดว่าหมอดูเป็นอาชีพที่แสวงหาผลประโยชน์มากกว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ อย่างไรก็ตามในสังคมก็มีทั้งคนดีและไม่ดี ทุกคนต่างมีจุดอ่อนแต่หากจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างบุคลากร 2 กลุ่ม คงจะต้องเลือกมองสิ่งที่เป็นจุดแข็ง/จุดเด่น ในบทบาทของหมอดูว่าสามารถเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการได้อย่างไรบ้าง

Keywords: ทัศนคติ, สุขภาพจิต, บริการสุขภาพจิต, หมอดู, จิตวิทยา, attitude, psychology, mental health service

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 3 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004050

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -