ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กอบโชค จูวงษ์

ชื่อเรื่อง/Title: การทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่นในภาคใต้

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาองค์ประกอบและสภาพทั่วไปของวัยรุ่นในภาคใต้ที่ทำร้ายผู้อื่น 2. เพื่อศึกษาสาเหตุการทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่นในภาคใต้ วิธีการ โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น อายุ 13-25 ปี ที่กระทำผิดกฎหมาย เช่น ทำร้ายร่างกายพยายามฆ่า ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ฯลฯ แล้วถูกศาลพิจารณาตัดสินคดีให้อยู่ในการดูแลและควบคุมของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ทั้งหมด 96 ราย แบ่งเป็นสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัด สุราษฎร์ธานี จำนวน 51 ราย สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา จำนวน 45 รายใช้เครื่องมือแบบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่าง ร่วมกับการใช้แบบทดสอบบุคลิกภาพประเภท MPI แบบทดสอบระดับสติปัญญาประเภท SPM และนำมาวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS MS Windows ใช้ค่าสถิติ และค่าเฉลี่ยเลขคณิต ผลที่ได้ ลักษณะข้อมูลทั่วไปของวัยรุ่นที่ทำร้ายผู้อื่นในภาคใต้ มีการทำร้ายผู้อื่นมากในจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดสุราฎร์ธานี พบในเพศชายกลุ่มเดียว อายุโดยเฉลี่ย 18 ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา มีที่อยู่อาศัยในเขตชนบทมากกว่าในเขตเมือง สุขภาพอนามัยด้านร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ สิ่งเสพติดที่ใช้มีทั้งบุหรี่ สุรา กัญชา เฮโรอีน กาว และยาบ้า แต่สิ่งเสพติดที่นิยมใช้มากที่สุดได้แก่ บุหรี่ รองลงมาคือ สุรา บุหรี่มีการใช้เป็นประจำ ระยะเวลาที่ใช้โดยเฉลี่ย 2 ปี ส่วนสุรามีการใช้ไม่บ่อยนัก ระยะเวลาการใช้โดยเฉลี่ย 1 ปี ครอบครัวของวัยรุ่นที่ทำร้ายผู้อื่นในภาคใต้ ส่วนมากบิดามารดา มีสถานภาพสมรสคู่อยู่ด้วยกัน ร้อยละ 57.3 แต่ยังมีครอบครัวที่บิดา มารดา แยกกันอยู่ หรือบิดา มารดาเสียชีวิต ร้อยละ 42.7 ทำให้ลูกต้องอาศัยอยู่กับบิดา มารดา หรือต้องอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง มีจำนวน พี่น้องโดยเฉลี่ย 6 คน วัยรุ่นที่ทำร้ายผู้อื่นเป็นลูกที่มีลำดับความสำคัญในครอบครัว คือ ลูกคนโต ร้อยละ 30.2 ลูกคนกลาง ร้อยละ 23.9 และลูกคนสุดท้อง ร้อยละ 27.1 สภาพบ้านพักอาศัยส่วนมากเป็นเจ้าของเอง ร้อยละ 87.4 สมาชิกในครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรมร้อยละ 53.1 ค้าขาย ร้อยละ 39.6 และรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 และมีรายได้พอใช้จ่าย ร้อยละ 82.3 ความเป็นอยู่ของครอบครัวมีความรักใคร่ ห่วงใย ร้อยละ 86.4 บิดามารดามีการอบรมเลี้ยงดูลูกด้วยความรักใคร่ ห่วงใย ร้อยละ 82.3 แต่ในบางครอบครัวมีการเลี้ยงลูกแบบชอบตำหนิ ดุด่า ลงโทษ และไม่สนใจปล่อยปละละเลย ไม่ว่ากล่าวตักเตือน ร้อยละ 17.7 แสดงให้เห็นว่าความต้องการของวัยรุ่นต้องการความรักความอบอุ่นจากบิดามารดา แต่ในการดำเนินชีวิตของบิดามารดามักไม่มีเวลาให้กับลูก เนื่องจากต้องประกอบอาชีพตั้งแต่เช้าจรดเย็น การดำเนินชีวิตของวัยรุ่นที่ทำร้ายผู้อื่น ส่วนมากขยันเรียนและช่วยพ่อแม่ทำงานร้อยละ 52.1 แต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นบางคนมีลักษณะชอบทะเลาะ ชกต่อยกับ ผู้อื่นร้อยละ 18.7 ชอบเที่ยวกับเพื่อน ร้อยละ 16.6 การคบเพื่อนสนิทมีทั้งชวนให้เรียนหนังสือ ร้อยละ 45.8 และชวนให้หนีโรงเรียน ไปเที่ยวกับเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ ตามแหล่งต่าง ๆ เช่น โรงภาพยนตร์ ห้างสรรพสินค้า สถานเริงรมย์ ฯลฯ ร้อยละ 36.5 สิ่งที่สำคัญที่พบจากการศึกษาครอบครัววัยรุ่นที่ทำร้ายผู้อื่นมีบางครอบครัวที่มีพี่ ร้อยละ 12.5 และพ่อ ร้อยละ 6.3 ได้กระทำความผิดหรือต้องโทษในคดีพยายามฆ่า ร้อยละ 7.3 และทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 3.1 ส่วนวัยรุ่นกลุ่มนี้เคยมีประวัติทำร้ายผู้อื่นมาแล้วโดยเฉลี่ย 3 ครั้ง และบางรายเคยทำร้ายผู้อื่นมาแล้วสูงสุด 20 ครั้ง ลักษณะการทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่นในครั้งนี้ ส่วนมากเป็นความผิดในคดีฆ่าผู้อื่น ร้อยละ 53.1 โดยใช้อาวุธปืนหรือแทงด้วยมีด ร้อยละ 51.1 และกระทำร่วมกับเพื่อนหลายคน ร้อยละ 64.6 ผู้ถูกทำร้ายส่วนมากเสียชีวิต ร้อยละ 39.6 ในขณะทำร้ายผู้อื่น วัยรุ่นมีอารมณ์โกรธไม่พอใจ ร้อยละ 63.5 ซึ่งถูกยั่วยุมาแล้วหลายครั้ง ร้อยละ 44.8 โดยมีสาเหตุจากคำพูดดูถูก เหยียดหยาม ด่าว่าให้เจ็บใจ ร้อยละ 23.9 และถูกข่มเหงทำร้ายร้อยละ 22.9 วัยรุ่นกลุ่มนี้คิดว่าการทำร้ายผู้อื่นเป็นการพลาดพลั้งไม่ได้ตั้งใจ ร้อยละ 41.7 และมีระดับสติปัญญาอยู่ในระดับปกติ (IQ=90-109) ร้อยละ 76.0 สรุปและข้อเสนอแนะ จากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า รัฐควรให้การสนับสนุนครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานที่ควรตระหนักเกี่ยวกับการมีเวลาใกล้ชิดกับลูกให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีความผูกพัน และมีเวลาในการอบรมเลี้ยงดูหล่อหลอมให้บุตร มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม อดทน อดกลั้น มีเหตุผล รู้จักใช้ความสามารถทางสติปัญญาเผชิญกับสิ่งเร้าที่มากระตุ้น ควบคุมอารมณ์ไม่ให้อ่อนไหวไปตามสภาพธรรมชาติของวัยรุ่น และไม่คล้อยตามไปกับวัยของตัวเองที่อยู่ในวัยคึกคะนอง ไม่ตัดสินใจกระทำเพราะเพื่อตัวเอง เพื่อเพื่อน และเพื่อครอบครัว รวมทั้งสามารถนำวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ ในเรื่องความรักพวกพ้อง ความภูมิใจในถิ่นกำเนิดการพึ่งพาตนเอง รักอิสระและหมู่คณะ ความรักและความผูกพันในครอบครัว เครือญาติ มาใช้ในการดำเนินชีวิตในช่วงวัยรุ่นอย่างเหมาะสม

Keywords: การทำร้ายผู้อื่นของวัยรุ่นในภาคใต้, จิตเวช, ความรุนแรง, จิตเวชศาสตร์, สุขภาพจิต, คดี, ผิดกฎหมาย, ฆ่าผู้อื่น, psychology, metal health problem, homecide, violence

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 4 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004053

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -