ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรพินธุ์ โสวัณณะ

ชื่อเรื่อง/Title: ความชุก และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ในชนบท 3 จังหวัดภาคเหนือ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจความชุกของอาการสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ 2. เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอาการสมองเสื่อมกับปัจจัยที่ศึกษาในชนบท วิธีการ ใช้แบบสัมภาษณ์และแบบทดสอบสำหรับการค้นหาผู้ป่วย โดยสำรวจผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในชนบท 3 จังหวัดภาคเหนือ คือ ลำปาง เชียงราย และพิษณุโลก จำนวน 1,587 คน ระหว่างเดือนมกราคม -พฤษภาคม 2540 ผลที่ได้ พบความชุกอาการสมองเสื่อมร้อยละ 25.6 ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยที่ศึกษากับอาการสมองเสื่อม ที่ได้จาการวิเคราะห์โดยวิธี Stepwise multiple logistic regression ปัจจัยที่เกี่ยวกับลักษณะทั่วไปของประชากร ได้แก่ เพศหญิงเสี่ยงเป็น 1.70 เท่าของเพศชาย ช่วงอายุ 80 ปีขึ้นไป เสี่ยงเป็น 2.45 เท่าของช่วงอายุ 60-69 ปี ช่วงอายุ 70-79 ปี เสี่ยงเป็น 1.40 เท่า ของช่วงอายุ 60-69 ปี กลุ่มที่ไม่ได้เรียนเสี่ยงเป็น 3.10 เท่าของกลุ่มที่เรียน กลุ่มที่อยู่เดี่ยว เสี่ยงเป็น 1.36 เท่าของกลุ่มที่อยู่เป็นคู่ ปัจจัยด้านความเจ็บป่วยและด้านความเจ็บป่วยและด้านการหย่อนสมรรถภาพหรือพิการ ได้แก่ กลุ่มที่มีประวัติบาดเจ็บที่ศรีษะ กลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับสายตา และกลุ่มที่มีความบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยินเสียงเป็น 2.19, 1.34 และ 2.11 เท่า ของกลุ่มที่ไม่มีปัญหาและความบกพร่อง ดังกล่าวตามลำดับ สรุปและข้อเสนอแนะ การแก้ปัญหาปัจจัยที่เกี่ยวกับเพศ อายุ เป็นปัจจัยที่เลี่ยงไม่ได้ แต่ปัจจัยด้านการศึกษา สถานภาพสมรส การได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะ ปัญหาเกี่ยวกับสายตา ความบกพร่องเกี่ยวกับการได้ยินแก้ไขได้โดยการฟื้นฟูสมองให้เกิดการคิด การจำ ซึ่งอาจทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น การให้สุขศึกษา โปรแกรมฝึกความจำ การเยี่ยมบ้าน หรือชมรมผู้สูงอายุเป็นต้น

Keywords: ความชุก, ระบาดวิทยา, สมองเสื่อม, ผู้สูงอายุ, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, epidemiology, prevalence, elderly, dementia, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก

Code: 201410004055

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -