ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บัณฑิต ศรไพศาล

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ในรอบ 1 ปี (โดยการสำรวจทางโทรศัพท์)

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อสำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ 2. เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนช่วยเหลือ ป้องกันและเฝ้าระวังปัญหาด้านสุขภาพจิต วิธีการ เป็นการสำรวจข้อมูลทางโทรศัพท์ ในเขตกรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดที่มีหน่วยงานของกรมสุขภาพจิตตั้งอยู่ทั่วประเทศ 3 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 3 เดือน ในวันที่ 15-19 ธันวาคม 2540 9-13 มีนาคม 2541 และ 8-12 มิถุนายน 2541 โดยการสุ่มถามจากรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ในสมุดรายชื่อผู้ใช้โทรศัพท์ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลและจังหวัดที่มีหน่วยงานของกรมสุขภาพจิต ตั้งอยู่ทั่วประเทศ รวม 11 จังหวัด ผลที่ได้ ได้เปรียบเทียบผลการสำรวจ 3 ครั้ง โดยวิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มว่างงาน (เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดความเครียดในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ) และกลุ่มประกอบอาชีพพบว่าความรู้สึกเครียด (ทั้งเครียดเล็กน้อย ปานกลาง และมาก) ในกลุ่มประกอบอาชีพลดน้อยลงตามช่วงเวลาคือร้อยละ 65.8 และ 60.0 ส่วนกลุ่มว่างงานมีความรู้สึกเครียดร้อยละ 62.0 ในเดือนธันวาคม 2540 ลดน้อยลงเป็นร้อยละ 47.9 ในเดือนมีนาคม 2541 และเพิ่มมากขึ้นเป็นร้อยละ 75.5 ในเดือนมิถุนายน 2541 การมีความคิดฆ่าตัวตายในกลุ่มประกอบอาชีพพบร้อยละ 4.1 ในเดือนธันวาคม 2540 หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 6.2 ในเดือนมีนาคม 2541 และลดลงเป็นร้อยละ 4.9 ในเดือนมิถุนายน 2541 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มว่างงานพบว่ามีความคิดฆ่าตัวตายสูงกว่ากลุ่มประกอบอาชีพ โดยพบว่าเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา คือร้อยละ 7.1,8.9 และ 11.3 ในเดือนธันวาคม 2540 มีนาคม 2541 และมิถุนายน 2541 ตามลำดับ เมื่อประชาชนเกิดความเครียดทั้งในกลุ่มประกอบอาชีพและกลุ่มว่างงานจะเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหา 5 อันดับแรก ในลักษณะที่สร้างสรรค์เหมือนกันได้แก่ การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น หางานอดิเรกทำ พูดระบายกับผู้อื่น ทำบุญตักบาตร และออกกำลังกาย ส่วน 5 อันดับแรก ในลักษณะที่ไม่สร้างสรรค์ของทั้ง 2 กลุ่มเหมือนกันเช่นกันได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินยาระงับประสาท ระบายอารมณ์โดยกรีดร้องเที่ยวสถานเริงรมย์ และระบายกับสิ่งของ ข้อเสนอแนะ 1. ควรจัดให้มีเวทีอภิปรายผลการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจเพื่อความเข้าใจถึงผลกระทบจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อภาวะสุขภาพจิตของประชาชน และสามารถแปลงเป็นนโยบายและแผนงานบริการสุขภาพจิต (ทั้งด้านส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู) โดยที่องค์ประชุมอภิปรายผลควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ สาธารณสุข และสุขภาพจิต/จิตเวช 2. ควรดำเนินการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนทางโทรศัพท์อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ และนำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเปรียบเทียบ เพื่อการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจต่อไป 3. ควรมีการสำรวจภาวะสุขภาพจิตของประชาชนในลักษณะพื้นที่ เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าใจถึงภาวะสุขภาพจิตของประชาชนทุกระดับยิ่งขึ้น และอาจพัฒนาเป็นระบบเฝ้าระวังในระดับพื้นที่ต่อไป 4. ควรมีการพัฒนาต่อเนื่องเป็นระบบเฝ้าระวังในเรื่องอื่น ๆ ต่อไป ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิต ไม่เฉพาะเหตุการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจซึ่งอาจจะเจือจางเข้าสู่ระบบปกติต่อไปในที่สุด

Keywords: สุขภาพจิต, การสำรวจ, โทรศัพท์, ประชาชน, ภาวะวิกฤต, mental health, survey, crisis, telephone

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: สำนักงานปฏิรูประบบงาน กรมสุขภาพจิต

Code: 201410004056

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -