ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิตยา ชัยวิมล

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวชสำหรับบุคลากรพยาบาล

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการให้การบริการที่งานจิตเวชฉุกเฉินของบุคลากรพยาบาล และพัฒนาคู่มือการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิต ความเครียด พฤติกรรมการเผชิญปัญหาของญาติ/ผู้ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช วิธีการ ศึกษาทะเบียนประวัติผู้มารับบริการย้อนหลัง 6 เดือน (1 เมษายน - 30 กันยายน 2540) สังเกตการปฏิบัติงานและสัมภาษณ์กลุ่มบุคลากรพยาบาล นำข้อมูลที่ได้มากำหนดเนื้อหาคู่มือฯ ที่ใช้ได้ง่ายและเหมาะสมกับบุคลากรพยาบาล แล้วนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยกลุ่มตัวอย่าง ในช่วงระยะเวลาที่ศึกษาจำนวน 217 คน พร้อมกับเก็บข้อมูลญาติ/ผู้ดูแลผู้ป่วย จำนวน 213 คน ด้วยแบบสอบถาม จำนวน 56 ข้อประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป แบบวัดภาวะสุขภาพจิต (GHQ-12) แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง พฤติกรรมการเผชิญปัญหา หลังจากนั้น ประชุมผู้วิจัยภาคสนามเพื่อสรุปเนื้อหาคู่มือ ฯลฯ ผลที่ได้ ผลการศึกษาข้อมูลจากทะเบียนประวัติ พบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เคยมารับบริการที่โรงพยาบาลศรีธัญญา คิดเป็นร้อยละ 56.1 เพศชายคิดเป็นร้อยละ 67.1 อายุระหว่าง 16-25 ปี คิดเป็นร้อยละ 24.5 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 49.8 ไม่ได้ประกอบอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 44.3 ผู้ป่วยมารับบริการในช่วงเวรเช้า (8.00-16.00 น.) คิดเป็นร้อยละ 62.8 เวรบ่าย (16.00-24.00 น.) คิดเป็นร้อยละ 24.9 เวรดึก (24.00-8.00) คิดเป็นร้อยละ 5.7 การวินิจฉัย อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่ อยู่ในกลุ่มจิตเภท พฤติกรรมแบบจิตเภทความหลงผิด คิดเป็นร้อยละ 65.4 แพทย์รับไว้รักษาในโรงพยาบาลคิดเป็นร้อยละ 52.5 ลักษณะทางประชากรของญาติ/ผู้ดูแลกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 64.8 อายุระหว่าง 41.50 ปี คิดเป็นร้อยละ 23.9 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 51.6 อาชีพรับจ้างทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 34.3 มีรายได้ระหว่าง 1,001-5,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 51.2 อาการสำคัญที่ต้องพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ คือ นอนไม่หลับ อาละวาด ทำลายข้าวของ ทรัพย์สิน ทำร้ายผู้อื่น คิดเป็นร้อยละ 39.8 ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงก่อนมาโรงพยาบาล ประมาณ 1-5 วัน คิดเป็นร้อยละ 68.5 ญาติ/ผู้ดูแล “มีปัญหาสุขภาพจิต” คิดเป็นร้อยละ 69.0 มีความเครียดอยู่ในเกณฑ์ปกติ คิดเป็นร้อยละ 43.2 มีความเครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 28.2 มีความเครียดสูงกว่าปกติอย่างมาก คิดเป็นร้อยละ 14.1 ญาติ/ผู้ดูแลมีวิธีการแก้ปัญหาด้วยการสวดมนต์ ไหว้พระ เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ/ไม่สบายใจ คิดเป็นร้อยละ 23.5 หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเอง คิดเป็นร้อยละ 6.1 ผลจากการใช้คู่มือฯ ทำให้พยาบาลมีมุมมองกว้างขึ้น พูดคุยกับญาติ/ผู้ป่วยได้ดีขึ้น การให้คำแนะนำกับญาติมีเนื้อหาสาระขึ้น การประเมินผู้ป่วยทำได้ชัดเจน ทำให้แพทย์ให้การรักษาผู้ป่วยได้เร็ว

Keywords: ีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช, การพยาบาลจิตเวช, กิจกรรมพยาบาล, บริการพยาบาล, จิตเวช, คู่มือ, psychiatric nursing, emergency psychiatry, nurse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004060

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -