ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จินตนา หะรินเดช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยทางจิต - สังคมที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งรับการรักษาและขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางด้านจิตใจ อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจ และปัจจัยทางจิต - สังคมที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งรับการรักษาและขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา วิธีการ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งมารับบริการรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2538 - เดือนมีนาคม 2539 จำนวน 100 คน และผู้ป่วยโรคลมชักที่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 ปี จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาเป็นแบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นแบบทดสอบ SCL-90 และแบบทดสอบบุคลิกภาพ MPI การวิเคราะห์ข้อมูลโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/FW โดยใช้ค่าสถิติที่ร้อยละ t-test, Multiple Correlation และ Multiple Regression ผลที่ได้ จากการศึกษาพบว่าปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการความรู้สึกผิดปกติทางร่างกาย การย้ำคิดย้ำทำ ความรู้สึกตนเองบกพร่อง ความรู้สึกซึมเศร้า ความรู้สึกวิตกกังวล ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล และพฤติกรรมบ่งชี้อาการวิตกจริตของผู้ป่วยโรคลมชัก ซึ่งมารับการรักษาและขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักซึ่งมารับการรักษาอย่างต่อเนื่องและขาดการรักษา เท่ากับ 0.57 และ 0.17 ตามลำดับ ปัจจัยทางจิต-สังคมที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักที่มารับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับพ่อแม่ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง การงาน คะแนนบุคลิกภาพแบบแสดงตัว ( E ) ปัจจัยทางจิต-สังคมที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักที่ขาดการรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ปัจจัยด้านความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องและการเรียน สรุปและข้อเสนอแนะ อัตราความชุกของปัญหาทางด้านจิตใจ ปัญหาทางด้านจิตใจในกลุ่มอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยโรคลมชักที่มารับการรักษาต่อเนื่องสูงกว่าผู้ป่วยโรคลมชักที่ขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องปัจจัยทางจิต-สังคมที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม มีบางปัจจัยที่เหมือนกัน คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง และบางปัจจัยต่างกัน เช่น การเรียน การงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านลักษณะบุคลิกภาพ เป็นต้น ควรเพิ่มการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ทางด้านจิตใจร่วมไปกับการควบคุมอาการชักด้วยกิจกรรมกลุ่มวิธีต่าง ๆ ประสานเครือข่ายสาธารณสุขให้ดูแลปัญหาทางด้านจิตใจแก่ผู้ป่วยโรคลมชักทุกรายเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต ควรมีการศึกษากับปัจจัยทางจิต-สังคมอื่นๆ ที่มีผลต่อปัญหาทางด้านจิตใจของผู้ป่วยโรคลมชักในกลุ่มอื่น ๆ อีก

Keywords: epilepsy, psychiatry, psychology, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, โรคลมชัก, ลมชัก, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต

Code: 201410004062

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -