ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประไพศรี บูรณางกูร

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางครอบครัวและความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยจิตเวช โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive Research) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางครอบครัว และความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยจิตเภท โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา วิธีการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้ป่วยจิตเภทที่มารับบริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (purposive Sampling) จำนวน 150 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์เก็บข้อมูล โดยการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างเป็นรายบุคคลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ โปรแกรม SPSS/FW (Statistical Package for the Social Science for Window) โดยใช้ค่าสถิติร้อยละ คะแนนต่ำสุด สูงสุด ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบความสัมพันธ์โดยสัมประสิทธิ์สหพันธ์เพียร์สัน ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่า ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง เป็นเพศชาย ร้อยละ 60.7 เพศหญิงร้อยละ 39.3 ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี มีสถานภาพสมรสเป็นโสด มีระดับการศึกษาชั้นประถมศึกษา มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนครราชสีมามากที่สุด ส่วนมากมีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 5-6 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ฐานะทางเศรษฐกิจมีรายได้ไม่เพียงพอในการใช้จ่าย และส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างสามารถปฏิบัติกิจกรรมได้ตามปกติเท่าบุคคลทั่วไป เมื่อมีอาการผิดปกติหรือมีเรื่องไม่สบายใจจะปรึกษาบิดา มารดามากที่สุด การสนับสนุนทางครอบครัวโดยรวมอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 65.3 ส่วนคะแนนความร่วมมือในการรักษาอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 60.7 และการสนับุสนุนทางครอบครัวและความร่วมมือในการรักษาอยู่ในระดับปานกลางมากที่สุด ร้อยละ 60.7 และการสนับสนุนทางครอบครัวและความร่วมมือในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทมีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ระดับ .06 สรุปและข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยพบว่า การสนับสนุนทางครอบครัวของผู้ป่วยจิตเภทอยู่ในระดับปานกลาง จึงได้วางแผนให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวผู้ป่วย ในเรื่องการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย การสนับสนุนด้านอารมณ์ การสนับสนุนด้านการช่วยเหลือยกย่อง การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร และการสนับสนุนด้านเงินทอง สิ่งของ หรือการให้บริการเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตและอยู่ในสังคมได้สำหรับผู้ป่วยจิตเภทยังปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องในเรื่องการรับประทานยาควรจัดให้เจ้าหน้าที่เน้นย้ำเรื่องการกำหนดวันนัดให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ และให้มีปฏิทินบันทึกการรับประทานยา รวมทั้งมีการให้การปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเมื่อได้รับยาทางจิตเวช

Keywords: ผู้ป่วยจิตเวช, ผู้ป่วยจิตเภท, การสนับสนุนทางครอบครัว, การรักษาผู้ป่วยจิตเภท, psychosis, psychiatry, schizophrenia, family

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004063

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -