ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วิไลรัตน์ คุ้มประยูร, วันเพ็ญ เชาว์เชิง

ชื่อเรื่อง/Title: กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสำหรับญาติผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่กำลังรักษาในโรงพยาบาล กรณีศึกษาของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาทัศนคติของญาติต่อผู้ป่วยจิตเวชเปรียบเทียบทัศนคติก่อนและหลังการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และประเมินความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกลุ่ม กลุ่มตัวอย่างคือ ญาติผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่กำลังรักษาในแผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2540 ถึง มกราคม 2541 จำนวน 100 คน วิธีการ ดำเนินการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ การจัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนตามกระบวนการกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self help group) ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม คือแบบวัดทัศนคติของญาติต่อผู้ป่วย และแบบวัดความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง และตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาของแบบสอบถามโดยผู้ทรงคุณวุฒิ (Content Validity) และทดสอบความเชื่อมั่น (Reliability) โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s Validity) และทดสอบความเชื่อมั่น (Reliability) โดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.73 และ 0.65 ตามลำดับ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์โปรแกรม SPSS/PC+ โดยใช้สถิติ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของคะแนนทัศนคติ และเปรียบเทียบ คะแนนเฉลี่ยทัศนคติต่อผู้ป่วยก่อนและหลังเข้ากลุ่มโดยใช้วิธี t-test ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่าคะแนนเฉลี่ยทัศนคติของญาติต่อผู้ป่วยโรคทางจิตเวชก่อนเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยทัศนคติของญาติต่อผู้ป่วยโรคทางจิตเวชหลังเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น 95% และความพึงพอใจของญาติต่อการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนอยู่ในเกณฑ์พึงพอใจมาก สรุปและข้อเสนอแนะ 1. ควรจัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนสำหรับญาติผู้ป่วยโรคทางจิตเวชในโรงพยาบาลอย่างจริงจัง ทั้งในแผนกผู้ป่วยในและแผนกผู้ป่วยนอก โดยเตรียมบุคลากรพยาบาล เพื่อให้สามารถจัดกลุ่มนี้ได้และยึดถือเป็นนโยบายเพื่อให้เกิดการปฏิบัติเป็นประจำ และขยายออกไปสู่การบริการในชุมชนโดยเผยแพร่เทคโนโลยีนี้แก่โรงพยาบาลอื่น ๆ 2. ผู้บริหารทางการศึกษา ควรจัดการเรียนการสอนที่ให้นักศึกษาพยาบาลมีความรู้และทักษะในการปฏิบัติกลุ่มช่วยเหลือตนเอง (Self-help group) ได้ 3. ควรมีการติดตามประเมินผลเปรียบเทียบ การจัดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเป็นระยะ ๆ

Keywords: group, psychiatry, service, กลุ่ม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ญาติ, บริการ, ผู้ป่วยใน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004065

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -