ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล

ชื่อเรื่อง/Title: ระบาดวิทยาของการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 186. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การศึกษานี้เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ของกรมสุขภาพจิต เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ในการประเมินผลและวางแผนการดำเนินการ วัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาอุบัติการณ์ของภาวะการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตาย พ.ศ. 2544 2) เพื่อศึกษาปัจจัยทางด้านประชากรที่น่าจะสัมพันธ์กับพฤติกรรมการทำร้ายตนเอง วิธีการศึกษา เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง (Retrospective community-based study) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ 1) ผู้ที่ทำร้ายตนเอง ทั้งที่เสียชีวิตและไม่เสียชีวิตในช่วง 1 มกราคม 2544-31 ธันวาคม 2544 ใน 7 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วย จังหวัดระยอง เพชรบุรี เชียงราย พิจิตร ชัยภูมิ ตรัง และกระบี่ เก็บข้อมูลโดยวิธี 1) รวบรวมรายชื่อผู้ที่ทำร้ายตนเองที่มารับบริการ ณ สถานบริการทุกแห่งในจังหวัดตัวอย่าง 2) รวบรวมรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตจากการทำร้ายตนเอง จากมรณบัตร และรายงานการสอบสวนคดีของตำรวจ 3) สอบถามรายชื่อผู้ที่ทำร้ายตนเองจากผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย 4) ใช้แบบสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติที่ใกล้ชิด ผลการศึกษา พบว่าอัตราการทำร้ายตนเองเท่ากับ 51.47 ต่อประชากรแสนคน (95% C.I=49.5,53.9) อัตราการฆ่าตัวตาย (เสียชีวิต) เท่ากับ 8.2 ต่อประชากรแสนคน (95% C.I=6.5,9.9) และอัตราการทำร้ายตนเองมากกว่า 1 ครั้ง เท่ากับ 5.5 ต่อประชากรแสนคน (95% C.I=4.4,5.8) สาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ คือ "ปัญหาความน้อยใจ คนใกล้ชิดดุด่า หรือว่ากล่าว" (ร้อยละ 38) รองลงมา คือ "ปัญหาผิดหวังในความรัก/หึงหวง" (ร้อยละ 19) และ "ปัญหาโรคเรื้อรัง/พิการ/เสียโฉม" (ร้อยละ 11) ตามลำดับ วิธีการที่ใช้ทำร้ายตนเอง ที่พบบ่อยที่สุดคือ การกินสารเคมี (ร้อยละ 46) ส่วนใหญ่ไม่ได้คิดวางแผนทำร้ายตนเองมาก่อน (ร้อยละ 81) ลักษณะทางประชากร พบว่า สัดส่วนของเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 51) กับ(ร้อยละ 49) ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่อายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้น คือ ช่วงอายุ 20-39 ปี (ร้อยละ 57) มีรายได้ต่อครอบครัวต่อเดือนอยู่ในช่วง 1,001-5,000บาทต่อเดือน (ร้อยละ 53 "ไม่มี" โรคประจำตัว (ร้อยละ 74) "ไม่เคย" ไปรับบริการที่โรงพยาบาลจิตเวชหรือคลินิกจิตเวช (ร้อยละ 89) ไม่เคยทำร้ายตนเองมาก่อน (ร้อยละ81) ก่อนเหตุการณ์ "ไม่ได้" ไปหาหรือของความช่วยเลือจากบุคคลอื่น (ร้อยละ 77) หลังเกิดเหตุการณ์แล้วไปรับบริการที่โรงพยาบาลชุมชน ร้อยละ 66 สรุปและอภิปราย อัตราการทำร้ายตนเองและการเสียชีวิตยังคงสูง เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ การศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบอัตราการทำซ้ำและสาเหตุหรือกระตุ้น ลักษณะทางประชากร และแบบแผนการใช้บริการของกลุ่มเป้าหมายที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานในปีต่อๆ ไปให้ดียิ่งขึ้น

Keywords: ระบาดวิทยา, ความชุก, การทำร้ายตนเอง, ฆ่าตัวตาย, ซึมเศร้า, ภาวะเศร้า, โรคซึมเศร้า, การประเมินโครงการ, พฤติกรรมการทำร้ายตนเอง, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต

Code: 00000078

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -