ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุรพิน แท่นรัตนกุล

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการใช้กลุ่มบำบัดโดยอังกะลุงที่มีต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในกลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพโรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการใช้กลุ่มดนตรีบำบัดโดยอังกะลุงที่มีผลต่อพฤติกรรมผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง วิธีการ การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษากึ่งทดลองในคลินิกแบบ 2 กลุ่ม วัดก่อนและหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเพศชายที่รับไว้รักษาในกลุ่มงานฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 52 ราย คัดเลือกโดยใช้เกณฑ์ที่ตั้งวัดแล้วจับกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้ตัวแปรเรื่องอายุ ระดับการศึกษา ระยะเวลาของการเจ็บป่วย และพฤติกรรมการแสดงออกใกล้เคียงกัน และจับฉลากเพื่อแบ่งเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 26 ราย กลุ่มควบคุมจะได้รับการฟื้นฟู สมรรถภาพด้วยการพยาบาลด้วยกลุ่มตามปกติในหอผู้ป่วย และกลุ่มทดลองจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการพยาบาลตามปกติในหอผู้ป่วยร่วมกับกลุ่มดนตรีบำบัดโดยอังกะลุง โดยคณะศึกษาเป็นผู้จัดกลุ่มเอง เครื่องมือในการศึกษา คือ แบบวัดพฤติกรรมและแบบสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วยจิตเวช การรวบรวมข้อมูลทำ 4 ครั้ง คือ ก่อนเริ่มทำการทดลอง เมื่อสิ้นสุดการทดลองจังหวะ/ทำนองช้า เมื่อสิ้นสุดการทดลองจังหวะ/ทำนองปานกลาง และเมื่อสิ้นสุดการทดลองจังหวะ/ทำนองเร็ว หรือสนุกสนาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่โดยทดสอบที่ค่า t-test และเปรียบเทียบพฤติกรรมของผู้ป่วย 2 กลุ่ม โดยทดสอบค่าไค-สแควร์ (Chi-square) ผลที่ได้ 1. หลังการทดลองผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพเน้นการพยาบาลด้วยกลุ่มดนตรีบำบัด มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 2. หลังการทดลองผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังกลุ่มที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพเน้นการพยาบาลด้วยกลุ่มดนตรีบำบัด มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพด้วยการพยาบาลด้วยกลุ่มปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. หลังการทดลองจังหวะ/ทำนองช้า ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมด้านการรับรู้และการรู้จักตนเองดีขึ้นกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม หลังการทดลองจังหวะ/ทำนองปานกลาง ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมด้านการมีสัมพันธภาพกับผู้อื่น ความไว้วางใจผู้อื่น การร่วมมือในกิจกรรมการรักษาความเป็นมิตร อาการสงบ การแสดงอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ การรับรู้ การรู้จักตนเอง ความสนใจตนเอง ความสนใจสิ่งแวดล้อม การเข้าสังคม และความเชื่อมั่นในตนเอง ดีขึ้นกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม และหลังการทดลองจังหวะ/ทำนองเร็วหรือสนุกสนาน ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีพฤติกรรม 15 พฤติกรรม คือ พฤติกรรมต่าง ๆ ที่กล่าวแล้วในจังหวะ/ทำนองปานกลาง และพฤติกรรมด้านการให้ข้อมูลในการสนทนาและความคิดดีขึ้นกว่าผู้ป่วยกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05

Keywords: การพยาบาลจิตเวช, กลุ่มกิจกรรม, กลุ่มดนตรีบำบัด, ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรัง, จิตเวช, โรคจิต, กิจกรรมพยาบาล, ฟื้นฟูสมรรถภาพ, psychiatry, psychosis, psychiatric nursing, music therapy

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004068

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -