ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เพ็ญพรรณ พรหมนารถ

ชื่อเรื่อง/Title: การพัฒนาคู่มือการทำกลุ่มสุขภาพจิตศึกษา สำหรับบุคลากรพยาบาล

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาการจัดกลุ่มสุขภาพจิตศึกษาและความต้องการบริการสุขภาพจิตศึกษาของผู้มารับบริการที่กลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีธัญญาและพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมกลุ่มสุขภาพจิตศึกษา วิธีการ ทำการประเมินความต้องการบริการสุขภาพจิตศึกษาของผู้มารับบริการ จำนวน 351 คน ด้วยแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง จำนวน 13 ข้อ ประเมินสภาพปัญหาการให้บริการสุขภาพจิต โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth Interview) พยาบาลที่ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการสุขภาพจิตศึกษาที่กลุ่มงานผู้ป่วยนอก และนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดมาวิเคราะห์และพัฒนาคู่มือการทำกลุ่มสุขภาพจิตศึกษา แล้วให้พยาบาลผู้วิจัยภาคสนามนำไปทดลองใช้เป็นเวลา 3 วัน และนำมาปรับเนื้อหาตามความเหมาะสมอีกครั้งก่อนนำไปใช้ในการเก็บข้อมูลจริง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ กับผู้มารับบริการที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ไม่มีภาวะปัญญาอ่อนหรือมีอาการทางจิตรุนแรง เป็นผู้ที่ยินดีให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยจำนวน 290 คน โดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง แล้วประชุมผู้วิจัยภาคสนามอีกครั้ง เพื่อสรุปคู่มือการทำกลุ่มสุขภาพจิตศึกษา สำหรับบุคลากรพยาบาลฉบับสมบูรณ์ ผลที่ได้ พบว่า ผู้มารับบริการส่วนใหญ่ต้องการมารับบริการตรวจโรคทางจิตเวช คิดเป็นร้อยละ 46.4 มารับบริการยาต่อเนื่อง คิดเป็นร้อยละ 35.1 และส่วนใหญ่ไม่เคยเข้ากลุ่มสุขภาพจิตศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 82.6 ผู้มารับบริการไม่ทราบและไม่เข้าใจเกี่ยวกับบริการสุขภาพจิตศึกษา คิดเป็นร้อยละ 80.1 มีความต้องการบริการสุขภาพจิตศึกษา คิดเป็นร้อยละ 60.4 เหตุผลที่ต้องการเข้ากลุ่มสุขภาพจิตศึกษาเพราะคาดว่าจะได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย อาการของโรค การฟื้นฟูทางด้านจิตใจให้ดีขึ้น โดยให้จัดกลุ่มในลักษณะที่มีการซักถามข้อสงสัยภายในกลุ่มได้ ลักษณะทางประชากรของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 50.2 เพศชายคิดเป็นร้อยละ 42.1 อายุระหว่าง 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 25.1 มีปัญหาความทุกใจ/ไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องความเจ็บป่วยทางจิต ปัญหาการรับประทานยา ปัญหาบุคลิกภาพและการปรับตัว ปัญหาการใช้สารเสพติดและปัญหาเศรษฐกิจ วิธีการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ใช้วิธีการบอกกับตัวเองว่า ในวันข้างหน้าจะต้องดีกว่านี้แน่ คิดเป็นร้อยละ 36.6 หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเอง คิดเป็นร้อยละ 29.0 ผลจากการแก้ปัญหาทำให้ปัญหา “ดีขึ้นบ้าง” คิดเป็นร้อยละ 57.6 ความรู้สึกต่อการแก้ปัญหาคือทำให้รู้สึก “สบายใจขึ้นบ้าง” คิดเป็นร้อยละ 54.8 หลังจากเข้ากลุ่มสุขภาพจิตศึกษา ผู้มารับบริการมีความคิดเห็นว่า ระยะเวลาในการทำกลุ่ม (1 ชั่วโมง) มีความเหมาะสมอยู่ในระดับ “ปานกลาง” คิดเป็นร้อยละ 56.9 ทำให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับ “มาก” คิดเป็นร้อยละ 69.0 ทำให้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า คิดเป็นร้อยละ 74.3 ได้เรียนรู้และรับประโยชน์จากการเข้ากลุ่มสุขภาพจิตศึกษา “มาก” คิดเป็นร้อยละ 71.5 ความคิดเห็นของพยาบาลผู้วิจัยภาคสนามต่อคู่มือการทำกลุ่มสุขภาพจิตศึกษา หลังจากนำไปใช้เก็บข้อมูลในพื้นที่จริงพบว่า เนื้อหาของคู่มือฯ เกี่ยวกับแผนผังการจัดกลุ่มและแบบบันทึกกิจกรรมกลุ่ม มีประโยชน์มาก คิดเป็นร้อยละ 48.4 ส่วนเนื้อหาเกี่ยวกับ “การจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์” แนวทางการประเมินผู้มารับบริการฯ” “ขั้นตอนการดำเนินกลุ่ม” “แนวทางการตอบคำถามของผู้มารับบริการที่พบได้บ่อย” มีประโยชน์อยู่ในระดับปานกลาง คู่มือการทำกลุ่มสุขภาพจิตศึกษาทำให้การตอบคำถามผู้มารับบริการออกมาเป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น และสามารถประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามอื่นได้ด้วย เพราะแนวคำตอบที่มีอยู่เป็นการตอบแบบกว้าง ๆ ใช้ได้กับคำถามหลายลักษณะ

Keywords: group, nurse, OPD, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ผู้ป่วยนอก, พยาบาล, สุขภาพจิตศึกษา, สุขศึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004069

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -