ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จรุง เมืองชนะ, เสงี่ยม วงศ์สวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมสามีทำร้ายร่างกายภรรยาในจังหวัดนครศรีธรรมราช

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์เพื่อทราบความชุก รูปแบบความสัมพันธ์ของพฤติกรรม สามีทำร้ายร่างกายภรรยากับปัจจัยบางประการ เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการควบคุมป้องกันพฤติกรรมนี้อย่างเหมาะสมต่อไป วิธีการ เป็นการศึกษาแบบภาคตัดขวาง สุ่มตัวอย่างแบบ two-stage cluster sampling หน่วยสำรวจชั้นที่หนึ่งคือหมู่บ้านนอกเขตเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช เลือกมา 30 หมู่บ้านด้วยวิธี systematic random sampling หน่วยสำรวจชั้นที่สองคือหญิงอายุไม่เกิน 44 ปี ที่แต่งงานมาแล้วไม่ต่ำกว่าหนึ่งปีและยังอยู่กันกับสามี สุ่มมาหมู่บ้านละ 12 คน โดยใช้กรอบการสุ่มคือ MWRA ของแต่ละหมู่บ้านด้วยวิธี systematic random sampling ได้ประชากรตัวอย่างทั้งหมด 360 คน เก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ตามแบบสัมภาษณ์ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม ถึง 10 กันยายน 2540 โดยใช้นิยาม พฤติกรรมสามีทำร้ายร่างกายภรรยา หมายถึงการที่สามีใช้กำลังทำร้ายร่างกายภรรยาตนโดยตั้งใจ เช่น ตบ เตะ ต่อย กระชาก ขว้างของใส่เป็นต้น วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม epiinfo v.6 และ ethnograph v.4 ใช้สถิติ chi-square กำหนดให้ =.05 ผลที่ได้ ประชากรตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 33ี ปีมีการศึกษาระดับประถมศึกษาร้อยละ 78 มัธยมศึกษาร้อยละ 16 ศาสนาพุทธ ร้อยละ 98 อาชีพเกษตรกร ร้อยละ 66 ค้าขาย ร้อยละ 12 รับจ้าง ร้อยละ 12 ภรรยาให้ประวัติว่าในช่วงที่อยู่กินกับสามีเคยถูกสามีทำร้ายร่างกายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ครั้งร้อยละ 24.4 (95% CI = 19.6,29.3;dosign effect = 1.212) เกือบทั้งหมดเกิดในบ้าน (ร้อยละ 92) ไม่พบว่ามีการใช้อาวุธทำร้ายส่วนใหญ่เป็นการตบ เตะ ผลัก กระชาก ตี ขว้างของใส่ และต่อยร้อยละ 39,23,17,16,13 และ 9 ตามลำดับ การบาดเจ็บพบว่าไม่มีบาดแผล ร้อยละ 65 และช้ำบวมร้อยละ 28 การรักษาพบว่าไม่รักษาร้อยละ 75 ซื้อยาร้อยละ 10 และไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยร้อยละ 6 ภรรยาไม่ตอบโต้หรือนิ่งเฉยร้อยละ 62 ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ร้อยละ 17 และพูดคุยปรับความเข้าใจร้อยละ 14 เหตุการณ์นำ ได้แก่ ความขัดแย้งในชีวิต ประจำวัน ติดสุรา ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว และติดพันหญิงอื่น คิดเป็นร้อยละ 40,24,13 และ 11 ตามลำดับ พบพฤติกรรมนี้ในทุกกลุ่มอายุคู่สมรส (15-49 ปี) และทุกระยะหลังการสมรส (0-19 ปี) และพบว่าปัจจัยด้านความแตกต่างระหว่างอายุของคู่สมรส อายุแรกสมรส ระดับการศึกษา และความแตกต่างระหว่างระดับการศึกษาของสามีภรรยาไม่มีผลต่อความชุกของพฤติกรรมนี้ วิจารณ์ สังคมควรตระหนักและให้ความสำคัญกับปัญหาสามีทำร้ายร่างกายภรรยาเพราะเป็นปัญหาที่พบบ่อยไม่ว่าในจังหวัดนครศรีธรรมราชหรือในสังคมไทยทั่วไป แต่ที่ไม่ประจักษ์เพราะเป็น “ภัยเงียบใต้หลังคาบ้าน” ควรดำเนินการเพื่อควบคุมป้องกันปัญหานี้ในคู่สมรสระหว่างอยู่กินทุกช่วงอายุสมรส ทุกกลุ่มอายุคู่สมรสและทุกระดับการศึกษา โดยเน้นผลกระทบทางจิตใจมากกว่าทางร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางปฏิบัติเมื่อเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตประจำวัน การลดอบายมุข ผัวเดียวเมียเดียวและการสร้างฐานะของครอบครัว

Keywords: พฤติกรรมสามีทำร้ายร่างกายภรรยา, พฤติกรรมรนแรง, พฤติกรรม, ก้าวร้าว, violence behavior, violent

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: กองระบาดวิทยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004079

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -