ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รจนา กุลรัตน์ และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การจัดกลุ่มให้การปรึกษาสตรีที่มีปัญหาชีวิตสมรส เปรียบเทียบสุขภาพจิตก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อช่วยเหลือสตรีมาเข้ากลุ่มให้ได้ระบายความทุกข์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกันและกัน 2. เพื่อให้ความรู้ ให้กำลังใจ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม 3. เพื่อเปรียบเทียบสุขภาพจิตก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม 4. เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาหารูปแบบการช่วยเหลือสตรีที่มีปัญหาชีวิตสมรสต่อไป วิธีการ กลุ่มประชากรที่ทำการวิจัยเป็นกลุ่มสตรีที่มีปัญหาชีวิตสมรส กรณีคู่สมรสนอกใจ จำนวน 34 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม มี 2 ส่วน เป็นแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเอง และแบบสอบถามภาวะสุขภาพทั่วไป (The General Health Questionnaire หรือ GHQ ของ David Goldberg (1972) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลที่ได้ ผลการวิจัยเปรียบเทียบก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม ปรากฎว่า หลังการเข้ากลุ่ม ผู้เข้ากลุ่มมีความแน่ใจว่ากลุ่มช่วยได้ มีจำนวนมากขึ้น และไม่รู้สึกอายที่จะพูดเรื่องส่วนตัวให้คนในกลุ่มฟัง ได้รับความรู้และมีความรู้สึกสบายใจมากขึ้น มีกำลังใจที่จะอยู่กับคู่สมรสต่อไป และได้แนวทางในการแก้ไขปัญหาเพิ่มขึ้น ด้านชีวิตสมรสของผู้เข้ากลุ่ม เปรียบเทียบก่อนและหลังการเข้ากลุ่ม จากการทดสอบทั้ง 3 ครั้ง พบว่า หลังเข้ากลุ่มสตรีที่มีปัญหาชีวิตสมรสมีสุขภาพจิตดีขึ้นกว่าก่อนเข้ากลุ่ม และพบว่าผู้ที่มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพจิตลดจำนวนลงจาก 12 ราย เหลือ 1-2 ราย ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตลดจำนวนลงจาก 3 รายเป็นไม่มีเลย นอกจากนี้ผู้เข้ากลุ่มได้เขียนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดกลุ่มผลของการมาเข้ากลุ่มที่พวกเขาได้รับ และข้อคิดเห็นต่อการดำเนินงานในอนาคต ข้อคิดเห็นต่อการจัดกลุ่มพบว่า ผู้เข้ากลุ่มมีความพอใจต่อสถานที่ บรรยากาศของกลุ่ม และความน่าไว้วางใจของวิทยากร ผลของกลุ่ม ผู้เข้ากลุ่มเห็นว่าเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์ในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ทำให้ได้ระบายความทุกข์และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ได้รับความรู้ ช่วยให้มีกำลังใจ มั่นใจในการเผชิญปัญหา ช่วยลดทิฐิ อคติที่มีต่อคู่สมรส รู้จักวิเคราะห์ตนเอง และปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยให้มีแนวคิดในการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นอยู่และมีสุขภาพจิตดีขึ้น สำหรับการดำเนินงานในอนาคต ผู้เข้ากลุ่มเห็นว่าควรดำเนินงานโครงการนี้ให้ต่อเนื่องต่อไป โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ควรจัดให้สมาชิกกลุ่มได้พบกันอีกเป็นครั้งคราวควรทำสื่อประกอบการเข้ากลุ่ม เช่น เทป หรือเอกสารประกอบ เพื่อช่วยในการเรียนรู้ รวมทั้งควรจัดกลุ่มสำหรับผู้ที่เตรียมตัวมีคู่ครองด้วย ข้อเสนอแนะ คณะผู้วิจัยเองคิดว่าควรจะพัฒนารูปแบบ การให้การปรึกษาแบบกลุ่มและขยายผลต่อไป อีกทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่สนใจงานวิจัยด้านนี้ว่าควรศึกษาในกลุ่มบุรุษที่ถูกนอกใจ และควรศึกษาในกลุ่มประชากรที่ใหญ่ขึ้นในการจัดกลุ่มแต่ละครั้ง รวมทั้งควรศึกษาวิธีการช่วยเหลือคู่สมรสในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

Keywords: การปรึกษา, กลุ่มให้การปรึกษา, สุขภาพจิต, ปัญหาชีวิตสมรส, group counseling, counselling, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004081

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -