ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธนู ชาติธนานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: ภาวะเครียดกลไกการรับมือกับความเครียดและความคิดอยากฆ่าตัวตายของคนไทยในภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาหาระดับความเครียดและรูปแบบของกลไกที่ใช้ เพื่อรับมือกับความเครียด รวมถึงความคิดอยากฆ่าตัวตายของคนไทยในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ วิธีการ ได้ทำการสำรวจในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2541 จากทั้งหมด 28 จังหวัด ใน 12 เขตทางสาธารณสุข ยกเว้นเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ไม่ได้ศึกษาในครั้งนี้ ผลที่ได้ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 7,462 คนเป็นชาย 33.8% เป็นหญิง 62.2% อายุ 16 - 87 ปี (เฉลี่ย 38.3ปี) ส่วนใหญ่ (77.1%) แต่งงานแล้ว มีบุตร 2 คน (28.7%) วุฒิการศึกษาสูงสุดไม่เกินชั้นประถมปีที่ 6 (71.9%) อาชีพหลักส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร (52.3%) มีรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน (69.15) กลุ่มตัวอย่าง 24.6% มีสถานภาพทางการเงินไม่พอกินพอใช้จนต้องอาศัยหรือกู้ยืมจากคนอื่น แต่ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว 68.7% ยังรักใคร่กันดี กลุ่มตัวอย่างจำนวน 84.4% ได้รับผลกระทบเนื่องจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนี้ 84.4% เป็นผลกระทบทางด้านการเงินมีสาเหตุใหญ่ ๆ มาจากรายได้ไม่พอกับรายจ่าย (57.8%) รองลงมาคือ เครื่องอุปโภคบริโภคมีราคาสูงขึ้น (56.2%) และสาเหตุจากรายได้ลดลง (33.9%) ผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตที่พวกเขาได้รับมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ต้องทำงานหนักมากขึ้น (48.7%) ชีวิตความเป็นอยู่ขัดสนมากขึ้น (46.3%) และต้องกู้ยืมหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่นมากขึ้น (40.6%) แผนการ 3 อันดับแรกที่พวกเขานำมาใช้ เมื่อเกิดปัญหาทางการเงินได้แก่ 1) ลดการใช้จ่ายและ ประหยัดให้มากที่สุด (62.7%) 2) หางานทำให้มากขึ้น (34.3%) 3) ยืมหรือกู้เงินจากบุคคลอื่น (18.9%) 7.5%ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ซึ่งแต่ละจังหวัด เขต และภาคมีอัตราการคิดฆ่าตัวตายต่างกัน โดยจังหวัดที่มีคนคิดอยากฆ่าตัวตายสูงสุด คือ พิจิตร (14.1%) เขตที่มีอัตราการคิดอยากฆ่าตัวตายสูงสุด คือ เขต 9 (11.3%) และภาคที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตายสูงสุด คือ ภาคเหนือ (9.9%) ต่ำสุดคือภาคใต้ (3.9%) ผลจากการสำรวจความเครียดพบว่า ความเครียดของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับที่จะเกิดอันตรายได้หากปล่อยให้เป็นติดต่อกันเป็นเวลานานถึง 38.3% โดยแต่ละจังหวัด เขต และภาคมีความเครียดแตกต่างกัน จังหวัดที่เครียดในระดับสูงมากที่สุด คือ จังหวัดพะเยา (56.8%) เขตที่มีความเครียดสูงสุด คือเขต 2(52.3%) และภาคกลางเป็น ภาคที่มีความเครียดสูงสุด (46.3%) ภาคที่มีความเครียดต่ำสุดคือภาคใต้ (18.7%) สาเหตุที่ทำให้เครียด 4 อันดับแรก คือ เงินไม่พอใช้จ่าย (22.3%) มีอาการปวดหัวจากความตึงเครียด (13.9%) รู้สึกเป็นกังวลกับความเครียดพบว่ากลุ่มตัวอย่างใช้กลไกหลาย ๆ อย่างร่วมกัน ที่นิยมใช้มากที่สุดสามอันดับแรก คือ แบบใช้ความคิด และการมองในแง่บวก (52.3%) แบบพี่งตนเอง (51.2%) และแบบเผชิญหน้ากับปัญหา (42.8%) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความเครียดในระดับสูงถึงรุนแรง คือ รายได้ต่ำ เพศหญิง การมีภาระต้องรับผิดชอบต่อคนอื่น การศึกษาระดับต่ำ อาชีพเกษตรกรหรือประมง การมีปัญหาด้านการเงิน การได้รับผลกระทบเนื่องจากภาวะวิกฤต และคนที่มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดความคิดฆ่าตัวตายสูง คือ เพศหญิง สถานภาพสมรสที่แต่งงานแล้วแต่อาศัยแยกกัน คนที่มีรายได้ต่ำ สถานะทางการเงินที่ไม่พอกินพอใช้จนต้องกู้ยืม และคนที่ตกงาน (P‹0.05) กลวิธีรับมือกับความเครียดที่พบว่าใช้บ่อยแล้วมีความสัมพันธ์กับความเครียดในระดับสูงถึงรุนแรง คือ กลไกแบบจัดการที่อารมณ์ แบบคิดและมองในแง่ร้าย แบบหลีกเลี่ยงปัญหา และแบบเบี่ยงเบนและบรรเทาอารมณ์ ในคนที่ใช้กลไกแบบเผชิญกับปัญหาบ่อย ๆ พบว่าจะมีระดับความเครียดต่ำ (P<0.05) สำหรับการมีความคิดอยากฆ่าตัวตายนั้น พบได้มากในคนที่นิยมใช้กลไกการรับมือกับความเครียดแบบจัดการที่อารมณ์ แบบหลีกเลี่ยงปัญหา และแบบคิดและมองในแง่ร้าย สรุปและข้อเสนอแนะ ผลจากการศึกษาครั้งนี้เห็นได้ว่าประชาชน 1 ใน 3 มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ในระดับที่จะก่ออันตรายในภายหลังได้หากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นเวลานาน และสมมติฐานที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้คือ แนวทางในการที่จะลดความเครียดและอัตราการคิดฆ่าตัวตายให้น้อยลง ควรจะลดการใช้กลไกแบบจัดการที่อารมณ์ แบบคิดและมองในแง่ร้าย แบบหลีกเลี่ยงปัญหา หรือแบบเบี่ยงเบนและบรรเทาอารมณ์ให้น้อยลง แต่ควรจะเน้นไปใช้รูปแบบการรับมือกับความเครียดแบบเผชิญกับปัญหาให้มากขึ้น และการที่จะนำกลไกรับมือกับความเครียดแต่ละแบบมาใช้อาจจะต้องมีการคัดเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละบุคลิกภาพของแต่ละคน ทั้งในอนาคตควรจะศึกษาเปรียบเทียบผลจากการใช้กลไกรับมือกับความเครียดแต่ละแบบ เพื่อดูว่าแบบไหนจะเหมาะสมกับการนำมาใช้และให้ผลตามที่ต้องการมากที่สุด

Keywords: community, psychiatry, stress, suicide, การฆ่าตัวตาย, ความเครียด, เครียด, ฆ่าตัวตาย, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004082

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -