ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รุจา เล้าสกุล, รวมพร สเลลานนท์, ศรีวันเพ็ญ ชินวงศ์, เสาวลักษณ์ ช่างสมบูรณ์

ชื่อเรื่อง/Title: ประสิทธิผลของสื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อนต่อพฤติกรรมหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเคมี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาประสิทธิผลของสื่อว่ามีผลต่อการรับรู้ข่าวสารในกลุ่มหญิง วัยเจริญพันธุ์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างเพียงใด 2. เพื่อจัดสื่อกิจกรรมเชิงรุกเข้าไปยังโรงงานอุตสาหกรรมเคมี เป็นการให้ความรู้เพิ่มเติมมีผลต่อพฤติกรรมหญิงวัยเจริญพันธุ์อย่างไร 3. เพื่อประเมินความเหมาะสมของสื่อเผยแพร่แต่ละประเภท 4. เพื่อนำผลวิจัยที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสื่อและรูปแบบการนำเสนอที่ก่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน วิธีการ ได้คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เป็นหญิงวัยเจริญพันธุ์ในโรงงานอุตสาหกรรมเคมี 4 แห่ง เป็นสถานประกอบการที่ทดลองใช้เครื่องมือและวิธีการวิจัย 1 แห่ง ส่วนอีก 3 โรงงานเป็นสถานที่ปฏิบัติการวิจัยจริง ได้กลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 150 คน เป็นผู้ที่ได้ให้ข้อมูลในการตอบแบบสอบถามก่อนและหลังการได้รับสื่อ ซึ่งมีวิธีการเก็บข้อมูล 3 ขั้นตอน คือ 1. สอบถามพฤติกรรมก่อนรับสื่อกิจกรรม 2. จัดสื่อกิจกรรมโดยให้ความรู้ด้วยโปสเตอร์ติดบอร์ด ให้หนังสือและเทปความรู้ภาวะปัญญาอ่อน เสียงตามสายพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ 3. ทดสอบพฤติกรรมหลังรับสื่อกิจกรรม ผลที่ได้ 1. หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้รับข่าวสารความรู้ภาวะปัญญาอ่อนผ่านสื่อโทรทัศน์มากที่สุด 2. พฤติกรรมหญิงวัยเจริญพันธุ์จากการทดสอบความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติก่อนและหลังการได้รับสื่อกิจกรรมที่จัดขึ้นในโรงงาน มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. พฤติกรรมหญิงวัยเจริญพันธุ์จากการสังเกตการณ์ หลังได้รับสื่อกิจกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางป้องกันตนเองเพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มการใช้อุปกรณ์ป้องกัน รับประทานอาหารกลางวันและพักผ่อนช่วงเที่ยงนอกอาคารทำงาน 4. ปัจจัยด้านอายุ สภาพสมรส การศึกษา และการมีบุตร ไม่มีผลต่อทัศนคติและการปฏิบัติตนของหญิงวัยเจริญพันธุ์แต่ปัจจัยด้านการศึกษามีผลต่อความรู้ภาวะปัญญาอ่อนที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 5. สื่อที่มีประสิทธิผลในการเผยแพร่มากที่สุด คือ การจัดบอร์ดโปสเตอร์เผยแพร่ร้อยละ 66 รองลงมาคือคู่มือสำหรับประชาชนเรื่องภาวะปัญญาอ่อนร้อยละ 56 ส่วนเทปความรู้ได้ผลน้อยที่สุด 6. หญิงวัยเจริญพันธ์กลุ่มตัวอย่าง พึงพอใจสื่อบุคคลที่แสดงความห่วงใย ให้คำปรึกษาแนะนำที่เป็นประโยชน์ สรุปและข้อเสนอแนะ 1. การเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อควรทำในรูปแบบการสื่อสาร 2 ทาง ให้โอกาสผู้ชม ผู้ฟัง ผู้อ่าน ได้มีส่วนร่วมถามปัญหา แสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ 2. การจัดสื่อกิจกรรมในเชิงรุกไปยังกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนให้หน่วยงานสาธารณสุขที่อยู่ใกล้สถานประกอบการได้ปฏิบัติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง 3. การเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อมวลชน ควรผ่านสื่อที่เป็นต้นแบบพฤติกรรมที่ให้ข้อมูลได้กระจ่างชัดเจน เช่น รายการโทรทัศน์ วิทยุ ควรมีผังรายการที่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า สามารถติดตามชมข่าวสารได้ตลอด 4. ควรเพิ่มจัดสื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน โดยเป็นกิจกรรมเชิงรุกไปยังหญิงเจริญพันธุ์กลุ่มอื่น ๆ ด้วย รวมทั้งสอดแทรกเนื้อหาร่วมไปกับงานส่งเสริมสุขภาพแม่และเด็ก งานอาชีวอนามัย โภชนาการ และสุขภาพจิตครอบครัว เป็นต้น

Keywords: industry, mental retardation, MR, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, แรงงาน, โรคปัญญาอ่อน, สตรี, สุขศึกษา

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004085

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -