ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มนตรี นามมงคล, วนิดา พุ่มไพศาลชัย

ชื่อเรื่อง/Title: ค่าปกติของ EMG Biofeedback กับการประเมินระดับความเครียดในคนไทย

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อหาค่าปกติของค่าความตึงเครียดทางกล้ามเนื้อ (EMG biofeedback) ในคนไทย โดยเทียบกับแบบวัดความเครียดสวนปรุง 20 ข้อ (SPST-20) และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบระหว่าง ค่า EMG biofeedback และความเครียดที่ได้จากแบบวัด SPST-20 กับมาตราประเมินความเครียดด้วยตนเองแบบคำถามเดียว วิธีการ กลุ่มตัวอย่างได้จากการติดประกาศรับอาสาสมัครตามที่ต่าง ๆ เช่น ศูนย์ การค้าโรงพยาบาล ที่ต้องการวัดความเครียดของตนเอง จำนวน 946 คน เป็นหญิง 642 คน (67.86%) ชาย 304 คน (32.14%) มีอายุตั้งแต่ 11-74 ปี เฉลี่ย 29.82 มีอายุตั้งแต่ 12-39 ปี 70% มีงานทำ และส่วนใหญ่ (52.14%) มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไป ทุกคนจะผ่านการวัดด้วยเครื่องมือ 3 ชนิดคือ แบบทดสอบความเครียดสวนปรุงชุด 20 ข้อ (SPST-20) มาตราประเมินความเครียดด้วยตนเองแบบคำถามเดียว 5 ขั้น และผ่านการวัดค่าความตึงเครียดของกล้ามเนื้อด้วยเครื่อง electromyogram ผลที่ได้ ผลการวิจัยพบว่าคะแนนที่ได้จากการวัดทั้งสามวิธี มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 99.9% โดยคะแนนที่ได้จากแบบทดสอบ SPST-20 จะสัมพันธ์กับมาตรา ประเมินความเครียดด้วยตนเอง (r=0.6840) สูงกว่าความสัมพันธ์ที่มีต่อค่า EMG biofeedback (r=0.5432) สามารถหาค่าปกติของ EMG ได้ 4 ระดับความเครียดดังนี้คือ ระดับที่ไม่เครียดหรือเครียดต่ำ 0-6 , ระดับเครียดปานกลางมีค่า 6.1-9 , เครียดสูง 9.1-16.7 , และ > 16.7- , เป็นระดับความเครียดรุนแรง สรุปและข้อเสนอแนะ ความสามารถในการวัดความเครียดเมื่อเทียบกับแบบทดสอบ SPST-20 แล้วในระดับที่ไม่เครียดหรือเครียดต่ำ เครื่องมือทั้งสามชนิดสามารถบอกได้ถูกต้องตรงกันมากกว่า 70% แต่ในความเครียดระดับสูงหรือรุนแรง มาตราประเมินความเครียดด้วยตนเองแบบคำถามเดียว จะบอกได้ใกล้เคียงกับแบบทดสอบ SPST-20 มากกว่าค่า EMG biofeedback การศึกษาครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าการประเมินระดับความเครียดสามารถกระทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อจำกัดแตกต่างกัน อาจเนื่องจากการแสดงออกของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้น การวัดความเครียดโดยใช้แบบทดสอบประเมินความรู้สึกที่อยู่ในใจ ร่วมกับการวัดความเครียดที่แสดงออกทางกาย เช่น EMG biofeedback จะช่วยลดข้อจำกัดของแต่ละวิธีลง และช่วยให้การวัดเป็นไปอย่างถูกต้องมากขึ้น แต่ในทางปฏิบัติแล้วแบบทดสอบ SPST-20 จะมีความเหมาะสมกับการนำไปใช้มากกว่าการวัดด้วย EMG สำหรับมาตราประเมินความเครียดแบบคำถามเดียวคงต้องศึกษาถึงความถูกต้องและความเหมาะสมกับการนำไปใช้ให้มากกว่านี้

Keywords: ระดับความเครียด, แบบวัดความเครียด, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, stress, test, mental health, psychology, EMG Biofeedback

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขภาพจิต 10 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004090

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -