ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมพิศ จำปาเงิน

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเครียดและปัจจัยที่มีผลต่อความเครียด รวมทั้งพฤติกรรมการเผชิญความเครียดและวิธีการแก้ไขหรือลดปัญหาความเครียดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี วิธีการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 575 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามซึ่งผู้วิจัยสร้างขึ้นตามหลักเกณฑ์และขั้นตอน ประกอบด้วย (1) แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป (2) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและ (3) แบบมาตรวัดความคิดเห็นด้านสุขภาพ (Health Opinion Survey Scale หรือ HOS) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแจกแบบสอบถามให้กลุ่มตัวอย่างตอบ ใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูล 2 สัปดาห์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ หาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน วิเคราะห์ถดถอยพหุคูณและทดสอบสมมติฐานด้วย t-test และ F-test ผลที่ได้ ระดับความเครียดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรีอยู่ในระดับปกติ ร้อยละ 83.4 ระดับค่อนข้างสูง ร้อยละ 14.5 และระดับสูงมากร้อยละ 2.1 กลุ่มที่มีระดับความเครียดสูงจะเป็นกลุ่มที่มีอายุ 30 ปีลงมา มีการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า มีหน้าที่ความรับผิดชอบทั้งงานประจำและงานเฉพาะกิจ และกลุ่มที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 5,000 บาท ระดับความเครียดมีความสัมพันธ์กับตัวแปรด้านรายได้ โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความพึงพอใจในงานและความสอดคล้องระหว่างงานกับความรู้ความสามารถ ความเพียงพอของรายได้และสวัสดิการ และระบบบริหารงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนตัวแปรที่สามารถพยากรณ์ความเครียดได้คือความเพียงพอของรายได้และสวัสดิการ สามารถพยากรณ์ได้ร้อยละ 8.0 แนวทางในการปรับตัวเมื่อเผชิญความเครียดพบว่า มักใช้วิธีเลี่ยงถอยหนี ส่วนวิธีแก้ไขหรือลดปัญหาความเครียดนั้น มักใช้การปรับอารมณ์ทำให้สบาย หาสาเหตุแล้วแก้ที่สาเหตุที่เป็นส่วนใหญ่ สรุปได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนใหญ่มีความเครียดอยู่ในระดับปกติ ส่วนที่มีความเครียดสูงนั้นอยู่ในกลุ่มอายุน้อย การศึกษาปานกลาง รายได้ต่ำ ภาระหน้าที่ความรับผิดชอบหลายอย่าง วิธีลดความเครียดน่าจะนำหลักและวิธีการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสมมาใช้ส่วนปัจจัยที่ส่งผลต่อความเครียด ด้านความเพียงพอของรายได้และสวัสดิการ ควรพิจารณาเรื่องการเพิ่มสวัสดิการ เพื่อลดภาระรายจ่ายลง และในการวินิจฉัยครั้งต่อไป ควรศึกษาในปัจจัยอื่น เช่น สังคม ครอบครัว เป็นต้น และขยายพื้นที่การศึกษาให้กว้างขึ้น

Keywords: ความเครียด, พฤติกรรมการเผชิญความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, stress, coping behavior, mental health, psychology

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลบางปลาม้า สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004091

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -