ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: มัจฉรี โอสถานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาผลของการอบรมเสริมทักษะการดูแลเด็กปัญญาอ่อนสำหรับผู้ปกครองที่มีต่อความสามารถในการเสริมทักษะการดำรงชีวิตประจำวันของเด็กปัญญาอ่อน

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อเปรียบเทียบผลของการเสริมทักษะการดูแลเด็กปัญญาอ่อนสำหรับผู้ปกครองที่มีต่อความสามารถในการเสริมทักษะการดำรงชีวิตประจำวันของเด็กปัญญาอ่อนก่อนและหลังการอบรม วิธีการ ใช้แบบแผนการวิจัย One Group Pre-test Post-test Design กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ปกครองของเด็กปัญญาอ่อนที่เข้ารับการอบรมหลักสูตรเสริมทักษะการดูแลเด็กปัญญาอ่อนสำหรับผู้ปกครองปี 2540 จำนวน 38 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินความสามารถของผู้ปกครอง มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .92 การวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS For Windows หาค่าที่ (T-Test Dependent) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสรุปประเด็นเสนอในรูปแบบข้อเท็จจริง ผลที่ได้ ผู้ปกครองเด็กปัญญาอ่อนหลังจากได้รับการอบรมตามโครงการการเสริมทักษะการดูแลเด็กสำหรับผู้ปกครองสูงกว่าก่อนการอบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้วิธีการสอนทุกขั้นตอนที่กำหนดไว้ ได้แก่ การสาธิต การบอกให้เด็กทำ การให้ความช่วยเหลือ การเสริมแรงและการให้เด็กทำซ้ำตามที่สอนด้วยตนเอง ในขณะที่ก่อนการอบรมผู้ปกครองส่วนใหญ่ใช้วิธีสอนเพียงสองขั้นตอน คือการบอกให้เด็กทำ และการช่วยเหลือ ส่วนการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ หลังการอบรมผู้ปกครองมีความเข้าใจและมีความมั่นใจในการเสริมทักษะเด็กปัญญาอ่อนมากกว่าก่อนการฝึกอบรม สรุปและข้อเสนอแนะ การศึกษาครั้งนี้เป็นไปตามสมมติฐานที่วางไว้และจากการติดตามผลหลังการอบรมประมาณ 8 สัปดาห์ ผู้ปกครองสามารถนำทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปฝึกบุตรหลานที่บ้านได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เป็นผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ในครอบครัว ชุมชน ได้ ข้อเสนอแนะ 1. ผู้ปกครองและบุคลากรจะต้องร่วมกันวางแผนการฝึกทักษะต่าง ๆให้แก่เด็กเป็นรายบุคคลตามศักยภาพของเด็ก 2. บุคลากรต้องเป็นผู้ให้ความรู้ คำปรึกษาแนะนำแนวทางการฝึกอบรมการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของผู้ปกครองและเด็ก 3. ขั้นตอนการสอนที่ใช้กับเด็กปัญญาอ่อนมีความสำคัญมาก ต้องสอนตามขั้นตอน การขาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งไปก็จะทำให้การฝึกหรือสอนของผู้ปกครองยากขึ้น ผู้ปกครองอาจขาดกำลังใจที่จะทำการฝึกเด็ก

Keywords: child, mental retardation, MR, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, โรคปัญญาอ่อน, ทักษะการดูแลเด็กปัญญาอ่อน, ผู้ปกครอง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004100

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -