ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประพันธ์ วงศ์สวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกและการปฏิบัติงานของบุคลากรสาธารณสุข ณ ศูนย์สุขภาพชุมชนในการให้บริการสุขภาพจิต : ศึกษากรณีเจ้าหน้าที่ สถานีอนามัย จังหวัดนนทบุรี

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 195-196. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

ทิศทางการปรับตัวของกระทรวงสาธารณสุข โดยการสร้างหลักประกันสุขภาพ มีการเพิ่มโอกาสการมีสุขภาพดีของประชาชนด้วยกลไกต่างๆ และที่สำคัญคือการเพิ่มบทบาทและพัฒนาศักยภาพของบริการศูนย์สุขภาพชุมชนให้เป็นบริการด่านแรกที่สามารถ ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง ดังนั้น การปฏิรูประบบสุขภาพและการปฏิรูประบบราชการที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้ ถือเป็นโอกาสที่กรมสุขภาพจิต ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลสุขภาพจิตของประชาชนทั้งประเทศ จะดำเนินการเชิงรุกให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ผสมผสานการดำเนินงานสุขภาพจิตในการดำเนินงานในศูนย์สุขภาพชุมชนนี้ จากข้อมูลสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี พบว่าจังหวัดนนทบุรีมีประชากรทั้งสิ้น 858,481 คน มีศูนย์สุขภาพชุมชน 61 แห่ง มีปัญหาสุขภาพจิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากมีการอพยพของประชาชนมาพักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับเป็นจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข และที่ตั้งของหน่วยงานราชการที่สำคัญหลายแห่ง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านสุขภาพเพื่อตอบสนองนโยบายเป็นจังหวัดนำร่อง เช่นเดียวกับต้องเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน เพื่อจะได้นำความรู้และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับความรู้สุขภาพจิตและการปฏิบัติงานเกี่ยวกับสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย อันจะมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานทางสุขภาพจิตให้แก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมและต่อเนื่อง ประชาชนจะได้มีสุขภาพจิตที่ดี เป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความรู้ ความเข้าใจ ความรู้สึกและการปฏิบัติงานด้านการบริการสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยที่ปฏิบัติงานในศูนย์สุขภาพชุมชน เขตจังหวัดนนทบุรี เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือวัดในการศึกษากับเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยจังหวัดนนทบุรี จำนวน 129 คน ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ SPSS/PC เพื่อศึกษาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย การวิเคราะห์ความแปรปรวนและค่าสัมประสิทธิ์ สหสัมพันธ์ ผลการวิจัยมีดังนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุ 30 ปีลงมา เป็นเพศหญิง การศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตในระดับสูงคือ ตอบถูกเฉลี่ย 11.5 ข้อ จากข้อคำถาม 15 ข้อ กลุ่มตัวอย่างมีความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตในระดับสูง กลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกที่ดีต่อเรื่องการเจ็บป่วยด้วยโรคทางสุขภาพจิตและต่อผู้ป่วยทางจิตเวชเป็นส่วนใหญ่ กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติงานด้านการบริการสุขภาพจิตในสัดส่วนสูงเป็นส่วนใหญ่ ด้านความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ ความเข้าใจ ความรู้สึกและการปฏิบัติงานด้านการบริการสุขภาพจิต มีความสัมพันธ์กัน การอบรมความรู้สุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กับความเข้าใจ ความรู้สึกและการปฏิบัติงานด้านการบริการสุขภาพจิต ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติงานด้านการบริการสุขภาพจิต ข้อเสนอแนะ กรมสุขภาพจิตต้องจัดให้มีหลักสูตรการอบรมความรู้ด้านจริยธรรม ศีลธรรม การดูแลและพัฒนาความรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มทัศนคติที่ดีในการให้บริการกับกลุ่มตัวอย่าง จัดประชุมปรึกษาวางแผนกิจกรรมการพยาบาล ร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงานร่วมกันว่ามีรูปแบบและขั้นตอนอย่างไร มีการประสานงานอย่างไร และขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองและหน่วยงานอื่นๆ ทำให้เกิดความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน และเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างผู้ร่วมงานต่อไป

Keywords: บริการสุขภาพจิต, การสร้างหลักประกันสุขภาพ, ทิศทาง, นโยบาย, บุคลากร, สุขภาพจิต, ศูนย์สุขภาพชุมชน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 00000080

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -