ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ศิริพร สุวรรณทศ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการเปรียบเทียบสัมพันธภาพในครอบครัวเด็กออทิสติก เด็กปัญญาอ่อนและเด็กปกติ

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบสัมพันธภาพในครอบครัว ทัศนคติ และความคาดหวังของบิดาหรือมารดาที่มีต่อบุตรที่เป็นออทิสติก ปัญญาอ่อน และปกติ วิธีการ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น และแบบประเมินการทำหน้าที่ของครอบครัว โดยขออนุญาตให้จากรองศาสตราจารย์อุมาพร ตรังคสมบัติ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาจากบิดาหรือมารดาของเด็กออทิสติก เด็กปัญญาอ่อน จำนวน 60 คน และเด็กปกติ จำนวน 50 คน มีอายุอยู่ระหว่าง 2-5 ปี รวมทั้งหมด 171 คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรม SPSS สถิติที่ใช้คือค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ความสัมพันธ์ทางเดียว (One-way ANOVA) ค่าความแตกต่างรายคู่ของเซฟเฟ่ (Scheffe) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson Correlation) และวัดค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วย Coefficient Alpha อยู่ในระดับ 0.79 ผลที่ได้ จากการศึกษาพบครอบครัวของเด็กทั้ง 3 กลุ่ม เป็นลักษณะครอบครัวเดี่ยว มีสภาพการสมรสแบบคู่อยู่ด้วยกัน และการศึกษาของบิดามารดาส่วนใหญ่ระดับมัธยมปลายและอุดมศึกษาบิดาประกอบอาชีพรัฐวิสาหกิจมากที่สุด มารดาเป็นแม่บ้าน มีรายได้โดยรวมของครอบครัว 25,001 บาทขึ้นไป ข้อมูลส่วนตัวของเด็ก 3 กลุ่ม พบเพศชาย 122 คน เพศหญิง 49 คน อายุเฉลี่ย 3.5 ปี มีระดับการเกิดเป็นบุตรคนแรกมากที่สุด จะมีพี่หรือน้องเพียง 1 คน จากการศึกษาทัศนคติและความคาดหวังของบิดามารดาของเด็ก 3 กลุ่ม พบว่าบิดามารดาของเด็กปัญญาอ่อนมีทัศนคติที่ดีต่อบุตร เช่นเดียวกับบิดามารดาของเด็กปกติ ส่วนบิดามารดาของเด็กออทิสติก มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อบุตรในเรื่องของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา และการเลี้ยงดูที่ยากลำบากทำให้รู้สึกเป็นภาระ ท้อแท้และเครียด ในด้านความรักที่มีต่อบุตรนั้น บิดามารดาของเด็กทั้ง 3 กลุ่มมีเหมือกัน ในความคาดหวังที่มีต่อบุตร เด็กปัญญาอ่อนกับเด็กปกติ บิดามารดามีความคาดหวังในการเลี้ยงดูและคิดจะพึ่งพาบุตรได้ ในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ไม่คิดว่าการมีบุตรออทิสติก ปัญญาอ่อนจะทำให้ชีวิตสมรสไม่ราบรื่น จากการศึกษาการทำหน้าที่ของครอบครัว 7 ด้าน ในเชิงบวกยังแสดงให้เห็นถึงความมีสัมพันธภาพในครอบครัวที่ดีของเด็ก 3 กลุ่ม ไม่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในระดับ 0.19 เช่น ในด้านการแก้ปัญหาร่วมกัน การทำหน้าที่ตามบทบาท ด้านการสนองตอบทางอารมณ์ ส่วนในด้านความผูกพันทางอารมณ์ ด้านการควบคุมพฤติกรรม ด้านการสื่อสาร เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบความแปรปรวนแล้วพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ข้อเสนอแนะ ควรมีการวางแผนนโยบาย ดูแลสุขภาพจิตครอบครัวที่มีบุตรพิการ และครอบครัวที่มีบุตรเจ็บป่วยเรื้อรัง เนื่องจากเป็นครอบครัวกลุ่มเสี่ยง ที่มีบุตรปกติในครอบครัวด้วย

Keywords: autism, autistic, family, mental retardation, MR, child psychiatry, children, ครอบครัว, เด็ก, จิตเวชเด็ก, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ปัญญาอ่อน, ภาวะปัญญาอ่อน, โรคปัญญาอ่อน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ศูนย์สุขวิทยาจิต กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004103

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -