ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรวรรณ ศิลปกิจ

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้และเจตคติต่อโรคลมชักของแพทย์ที่ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการนานาชาติ ครั้งที่ 2 สุขภาพจิตกับยาเสพติด ปี 2546. หน้า 197. (วันที่ 19-21 สิงหาคม 2546 ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพมหานคร)

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ความเชื่อมั่นและเจตคติต่อโรคลมชักชนิดไม่ซับซ้อนของแพทย์ส่วนภูมิภาค ที่เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมเรื่องโรคลมชัก ซึ่งจัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ระหว่างเดือนธันวาคม 2544 ถึงเดือนมีนาคม 2546 โดยตอบแบบสอบถามที่ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับโรคลมชัก บทบาทของแพทย์ และเจตคติผู้ป่วยลมชักด้านบุคลิก อารมณ์ โอกาสการทำงาน โดยการประเมินค่าระหว่าง 1-7 จำนวน 30 ข้อ ผู้วิจัยได้รับแบบสอบถามที่มีข้อมูลครบถ้วน จำนวน 233 ฉบับ ผลการศึกษา มีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในภาคเหนือ 44 คน (18.9%) ภาคอีสาน 98 คน (42.1%) ภาคใต้ 43 คน (18.5%) และภาคตะวันออก 48 คน (20.6%) อายุเฉลี่ย 31.48+8.24 ปี จำแนกตามความเชี่ยวชาญเป็นแพทย์เฉพาะทาง ด้านกุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ศัลประสาทแพทย์ จำนวน 60 คน แพทย์ใช้ทุน แพทย์เฉพาะด้านอื่นๆ เช่น สูตินรีเวช วิสัญญี เวชศาสตร์ป้องกัน และจิตเวช จำนวน 173 คน ร้อยละ 80.7 ไม่เคยอบรมเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชัก ร้อยละ 69.5 เห็นว่าประสบการณ์กับการดูแลผู้ป่วยลมชักชนิดไม่ซับซ้อน ร้อยละ 51 มีความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วย ร้อยละ 98 มีความรู้เรื่องยาขนานใหม่ไม่เพียงพอ ร้อยละ 60 เห็นว่าประสิทธิภาพของยากันชักฟีไนโธอิน ฟีโนบาร์บ วาลไพรเอท และคาร์บามาซีฟีน ในผู้ป่วยโรคลมชักชนิดทั้งตัวแตกต่างกัน ร้อยละ 92.7 เห็นว่าแนวทางในการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักมีประโยชน์ ร้อยละ 73.5เห็นว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมองมีความจำเป็นในวินิจฉัยโรคลมชัก ร้อยละ 50 เห็นว่าการเจาะเลือดหาระดับยากันชักเป็นสิ่งสำคัญในการรักษา ร้อยละ 75.1 เห็นว่าแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปมีบทบาทในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ประเมินเจตคติต่อผู้ป่วยโรคลมชักอยู่ในระดับดี ยกเว้นร้อยละ 57 ไม่เห็นด้วยว่าผู้ป่วยมีความทะเยอทะยานเหมือนคนปกติ ร้อยละ 62 เห็นว่าผู้ป่วยรู้สึกมีตราบาปต่อการป่วยเป็นโรคลมชัก สรุปผลการศึกษา เจตคติของแพทย์ในส่วนภุมิภาคอยู่ในระดับดี การศึกษาต่อเนื่องเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคลมชักโดยวิธีต่างๆ และการพัฒนาคู่มือในการดูแลผู้ป่วยสำหรับแพทย์ เวชปฏิบัติทั่วไปมีความสำคัญและความจำเป็น

Keywords: โรคลมชัก, ความรู้โรคลมชัก, เจตคติ, แพทย์, จิตวิทยา, ลมชัก, ชัก

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลศรีธัญญา กรมสุขภาพจิต

Code: 00000081

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -