ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นฤมล ศรีทานันท์, รัตติยา ทองแสง

ชื่อเรื่อง/Title: ปัญหา อุปสรรค และความต้องการในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน 5 จังหวัด ในเขต 7

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบปัญหาอุปสรรคและความต้องการของพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง ของ 5 จังหวัดในเขต 7 ต่อการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวช วิธีการ ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค จำนวน 76 ราย โดยเลือกประชากรที่ศึกษาแบบเจาะจงด้วยวิธีสำรวจสัมมะโน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเองแล้วนำไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างที่มีบริบทคล้ายคลึงกับประชากรที่ศึกษา จำนวน 24 ราย และหาค่าความเชื่อมั่นโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของ Cronbach ได้ค่าความเชื่อมั่นในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชในสภาพปฏิบัติจริง .93 สภาพความต้องการให้ปฏิบัติ .80 ทัศนคติต่องานสุขภาพจิต .93 และค่าความเชื่อมั่นในภาพรวม .93 การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยส่งทางไปรษณีย์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม SPSS/FW โดยใช้สถิติพรรณนา และสถิติอ้างอิง ผลที่ได้ 1. การนำโครงการสุขภาพจิตไปปฏิบัติของโรงพยาบาลชุมชน พบว่ามีการเปิดให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชมากที่สุด มีน้อยที่สุดคือการชี้แจงให้ผู้รับผิดชอบเข้าใจวัตถุประสงค์เป้าหมาย และแนวทางในการดำเนินงานสุขภาพจิต 2. ปัญหาในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชของประชากรตามสภาพการปฏิบัติจริงแต่ละด้าน พบว่า ด้านเทคโนโลยีมีปัญหาในระดับมาก นอกนั้นมีปัญหาระดับน้อยในส่วนสภาพความต้องการให้ปฏิบัติแต่ละด้าน พบว่า ทุกด้านมีปัญหาในระดับมาก และเมื่อหาความแตกต่างของระดับปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงานสุขภาพจิต ในสภาพการปฏิบัติจริงกับสภาพความต้องการให้ปฏิบัติแต่ละด้าน พบว่า ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านสถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ มีปัญหาอุปสรรคในระดับน้อย นอกนั้นมีปัญหาอุปสรรคอยู่ในระดับน้อยที่สุด 3. ทัศนคติของประชากรที่ศึกษาต่องานสุขภาพจิตและจิตเวชพบว่าอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของทัศนคติของประชากรตามตำแหน่งการมีแผนงานสุขภาพจิตการศึกษา/อบรมเพิ่มเติม และการได้รับการนิเทศ พบว่าไม่แตกต่างกัน แต่พบว่ากลุ่มประชากรที่อยู่ในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงต่างกัน มีทัศนคติต่องานสุขภาพจิตและจิตเวชแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของสภาพการปฏิบัติจริงและสภาพความต้องการให้ปฏิบัติแต่ละด้านในการดำเนินงานสุขภาพจิตของประชากรและจิตเวชตามตำแหน่งการมีแผนงานสุขภาพจิต การศึกษา/อบรมเพิ่มเติม การได้รับการนิเทศและจำนวนเตียง พบว่า สภาพการปฏิบัติจริงและสภาพความต้องการให้ปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ยกเว้นกลุ่มประชากรที่อยู่ในโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียงต่างกัน มีสภาพความต้องการให้ปฏิบัติด้านการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. ค่าสหสัมพันธ์ของทัศนคติของประชากรกับความต้องการให้ปฏิบัติแต่ละด้านพบว่าทัศนคติมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อสภาพความต้องการให้ปฏิบัติในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชในทุก ๆ ด้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ความแตกต่างของสภาพความต้องการให้ปฏิบัติแต่ละด้านในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชกับระดับทัศนคติที่แตกต่างกันของประชากร พบว่า กลุ่มประชากรที่มีระดับทัศนคติแตกต่างกัน มีสภาพความต้องการให้ปฏิบัติในการดำเนินงานสุขภาพจิตและจิตเวชแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทุก ๆ ด้าน

Keywords: สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004111

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -