ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมจิตต์ ฤทธิ์รักษา

ชื่อเรื่อง/Title: การเปรียบเทียบผลการจัดหอผู้ป่วยต่อบริการทางจิตเวชในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษารูปแบบการจัดหอผู้ป่วยในสถานการณ์จริง และการเปรียบเทียบผลของการจัดหาหอผู้ป่วยต่อบริการสุขภาพจิตและจิตเวช เพื่อหาแนวทางพัฒนางานที่เหมาะสมในสถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวชกรมสุขภาพจิต วิธีการ กลุ่มตัวอย่าง เป็นหัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลที่มีบริการผู้ป่วยในจำนวน 12 แห่งบุคลากรทางการพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยที่มีบริการสุขภาพจิตและจิตเวช จำนวน 948 คน และทีมจิตเวช จำนวน 95 คน จากการสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .93 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยวิธีการสรุปประเด็นเสนอในรูปข้อเท็จจริงจากกลุ่มประชากร การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS/PC+ ผลที่ได้ 1. ด้านการจัดหอผู้ป่วย สถานบริการสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิตทั้ง 12 แห่ง มีการจัด หอผู้ป่วยแบบแยกประเภท 1 แห่ง แบบรวมประเภท 11 แห่ง โดยทั้ง 2 ประเภท มีการจำแนกประเภทผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หอผู้ป่วยแรกรับบำบัด หอผู้ป่วยแบบเร่งรัดบำบัดและหอผู้ป่วยแบบบำบัดระยะยาว 2.การจัดระบบปฏิบัติบริการพยาบาลและการรักษา พบว่า ข้อดีของการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภท คือสามารถวางแผนการเตรียมหอผู้ป่วย อุปกรณ์ บุคลากร ได้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละประเภท สามารถจัดกิจกรรมได้ง่าย ผู้ป่วยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ญาติพึงพอใจในความปลอดภัยและบุคลากรเกิดความชำนาญเฉพาะทาง ขณะที่การจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภท มีข้อดีในด้าน ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าใจปัญหาและความต้องการ ตลอดจนการปรับตัวของผู้ป่วย บุคลากรมีการพัฒนาทักษะการดูแลผู้ป่วยทุกประเภท สามารถติดต่อผลอย่างต่อเนื่อง ลดปริมาณงานที่เกิดจากการย้ายผู้ป่วย ข้อเสียของการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภทผู้ป่วยคือ ความสิ้นเปลืองบุคลากร การเพิ่มภาระงานด้านเอกสารทะเบียน การจัดระเบียบต่าง ๆ ผู้ป่วยมีการปรับตัวตลอดเวลากับบุคคล สถานที่ ญาติเกิดความสับสนขาดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาล ขณะที่ข้อเสียของการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภทคือ การจัดกิจกรรมการพยาบาลให้เหมาะสมยาก บุคลากรดูแลผู้ป่วยไม่ทั่วถึง ผู้ป่วยเกิดภาวะติดสถานที่และบุคคล ญาติวิตกกังวลกลัวผู้ป่วยถูกผู้ป่วยที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวทำร้าย 3. ทีมจิตเวชมีความเห็นเกี่ยวกับการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภทว่า มีความเป็นสัดส่วนสะดวกต่อการบำบัดรักษา สามารถจัดโปรแกรมได้ง่ายพัฒนาความชำนาญมากขึ้น และมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภทว่าสะดวกในการดูแลรักษา ทำให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมจากผู้ป่วยด้วยกัน เกิดสัมพันธภาพที่ดีระหว่างญาติและบุคลากร 4. การบริการสุขภาพจิตและจิตเวชของบุคลากรทางการพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพ พบว่า มีการปฏิบัติบริการจิตเวชด้านปฏิบัติการพยาบาล ด้านปฏิบัติการรักษา และด้านการจัดการทางการพยาบาลไม่แตกต่างกันอย่างเชื่อมั่นได้ การปฏิบัติบริการทางการพยาบาลของบุคลากรทางการพยาบาล และพยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วยทั้งสามด้าน จำแนกตามกิจกรรม พบว่า 4.1 ประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภทมีการปฏิบัติบริการสูงกว่าการจัดหอผู้ป่วยแยกประเภท คือ กิจกรรมมีปฏิสัมพันธ์เพื่อการบำบัด การบันทึกอาการเปลี่ยนแปลงการประเมินสภาพผู้ป่วยอย่างถูกต้อง การประชุมปรีกษาร่วมกันในการวางแผนการพยาบาล การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา และ ความต้องการของผู้ป่วยในการวางแผนช่วยเหลือได้สะดวกและถูกต้องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ0.05 4.2 ประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภทมีการปฏิบัติบริการสูงกว่าประเภทการจัดหอผู้ป่วยแบบรวมประเภท คือ การสังเกตอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด การดูแลสุขภาพอนามัย การทำกลุ่มสามารถดำเนินได้ตามกระบวนการ สถานที่เป็นสัดส่วนเหมาะสมในการตรวจและรักษาเฉพาะทาง การจัดจำนวนและประเภทบุคลากรแต่ละเวรได้เหมาะสม และมีการเสนอความต้องการเครื่องมือเครื่องใช้กับผู้บริหารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุปและข้อเสนอแนะ 1. ควรมีการศึกษาการจัดหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่มีการจัดหอผู้ป่วยแบบแยกประเภทหรือแบบรวมประเภทอย่างเดียว 2. ควรมีการศึกษาการทดลองจัดหอผู้ป่วยทั้งแบบรวมประเภทและแบบแยกประเภทในโรงพยาบาลเดียวกันเป็นกรณีศึกษา 3. ควรมีการศึกษาการปฏิบัติบริการทางจิตเวชในโรงพยาบาลจิตเวชเด็ก หรือ ศูนย์จิตเวชชุมชน

Keywords: การจัดหอผู้ป่วยต่อบริการทางจิตเวช, จิตเวช, หอผู้ป่วย, ผู้ป่วยจิตเวช, การพยาบาลจิตเวช, บริการ, บริการจิตเวช, บริการสุขภาพจิต, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: โรงพยาบาลราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004112

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -