ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชูศรี เกิดพงษ์บุญโชติ

ชื่อเรื่อง/Title: การสำรวจการกระจายบุคลากรพยาบาลในสถานบริการทางสุขภาพจิตและจิตเวช กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา/Source: ที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2541

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ 1) สำรวจจำนวนของบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ ในสถานบริการทางสุขภาพจิตและจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต 2) ศึกษาความคิดเห็นของหัวหน้าหน่วยงานต่อการที่บุคลากรพยาบาลปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาล 3) ศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรพยาบาลต่องานที่ปฏิบัติในปัจจุบัน 4) ศึกษาเหตุผลของการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งภาระงานหลักของบุคลากรพยาบาล วิธีการ เป็นการสำรวจจากบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานบริการทางสุขภาพจิตและจิตเวช สังกัดกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 14 แห่ง ประกอบด้วย หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค เจ้าหน้าที่พยาบาลและผู้ช่วยเหลือคนไข้เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสำรวจข้อมูล 1 ชุด และแบบสอบถาม 2 ชุด ที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS/PC+ ผลที่ได้ 1. บุคลากรพยาบาลทุกประเภทส่วนใหญ่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลและร้อยละ 7.46 ถึง 25.25 กระจายไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น โดยพบผู้ช่วยเหลือคนไข้จำนวนมากที่สุด 2. หัวหน้ากลุ่มงานการพยาบาลส่วนใหญ่มีความคิดว่าไม่เหมาะสมต่อการที่บุคลากรพยาบาลปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาล แต่หัวหน้าหน่วยงานอื่น ๆ ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าเหมาะสม 3. บุคลากรพยาบาลทุกประเภท ที่ปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่าการปฏิบัติงานในกลุ่มงานการพยาบาลเป็นเรื่องเหมาะสมโดยมีเหตุผลแตกต่างกัน นอกจากนี้พบว่าพยาบาลวิชาชีพ มีความคิดเห็นด้านที่ 1 (การปฏิบัติงานภายใต้ขอบเขตตำแหน่งทางวิชาชีพ) ด้านที่ 2 (การพัฒนาทักษะทางการพยาบาล) และด้านที่ 3 (การพัฒนาทักษะทางวิชาการ) สูงกว่าพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนความคิดเห็นด้านที่ 4 (ความก้าวหน้าในวิชาชีพ) ไม่แตกต่างจากพยาบาลเทคนิค ส่วนบุคลากรพยาบาลที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ พบว่าพยาบาลวิชาชีพมีความคิดเห็นต่อด้านที่ 1,3 และ 4 สูงกว่าพยาบาลเทคนิคอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. เหตุผลของบุคลากรพยาบาลต่อการปฏิบัติงานในหน่วยงานต่าง ๆ นอกเหนือกลุ่มงานการพยาบาลที่มีคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกคือ พึงพอใจลักษณะงานในความรับผิดชอบ ผู้บังคับบัญชาแต่งตั้งและได้รับการทาบทามและพึงพอใจ 5. การศึกษาภาระงานหลักของบุคลากรพยาบาล ผู้วิจัยแบ่งภาระงานหลักเป็น 2 ลักษณะคือ งานที่มีความสำคัญในหน้าที่ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ทำ ในงานแต่ละลักษณะจำแนกเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท 1 งานการพยาบาล ประเภท 2 งานที่เกี่ยวข้องกับงานการพยาบาลและประเภท 3 งานที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานการพยาบาลโดยสิ้นเชิง ปรากฎผลการศึกษาดังนี้ ในงานลักษณะที่ 1 พบว่าบุคลากรพยาบาลทั้ง 4 ประเภทปฏิบัติงานประเภท 1 มากกว่า 2 และ 3 เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างบุคลากรพยาบาลในงานแต่ละประเภท พบว่าพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานประเภท 1 ไม่แตกต่างจากพยาบาลเทคนิค แต่ปฏิบัติงาน ประเภท 2 มากกว่าบุคลากรพยาบาลอีก 3 ประเภท และปฏิบัติงานประเภท 3 น้อยกว่าพยาบาลเทคนิค อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในงานลักษณะที่ 2 พบว่าพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานประเภท 1 น้อยกว่า 2 แต่มากกว่า 3 ส่วนพยาบาลเทคนิคปฏิบัติงานประเภท 1 และ 2 มากกว่า 3 และผู้ช่วยเหลือคนไข้ปฏิบัติงานประเภท 3 มากกว่า 1 และ 2 สำหรับเจ้าหน้าที่พยาบาลปฏิบัติงานทั้ง 3 ประเภทไม่แตกต่างกัน เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างบุคลากรพยาบาลในงานแต่ละประเภทพบว่าพยาบาลวิชาชีพพยาบาลเทคนิคและเจ้าหน้าที่พยาบาล ปฏิบัติงานประเภท 1 ไม่แตกต่างกัน ส่วนงานประเภท 2 พยาบาล วิชาชีพปฏิบัติมากกว่าบุคลากรอีก 3 ประเภท และงานประเภท 3 บุคลากรพยาบาลทั้ง 4 ประเภท ปฏิบัติไม่แตกต่างกัน ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ จากผลการวิจัยแสดงว่าบุคลากรพยาบาลจำนวนหนึ่งกระจายไปปฏิบัติงานในหน่วยงานอื่น ๆโดยลักษณะงานที่ปฏิบัติมีทั้งงานเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับการบริการผู้ป่วย ซึ่งหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ มีความเห็นว่า หากสามารถจัดให้บุคลากรพยาบาลปฏิบัติงานการพยาบาลและจัดเตรียมบุคลากรสายตรงในวิชาชีพอื่นได้ จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านบริหารและการทำงานตรงตามสายงาน

Keywords: การกระจายบุคลากรพยาบาล, พยาบาล, พยาบาลจิตเวช, โรงพยาบาลจิตเวช, บริการพยาบาลจิตเวช, บริการพยาบาล, การพยาบาล, nurse

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: ร.พ.สมเด็จเจ้าพระยา กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 201410004117

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ได้รับคัดเลือกนำเสนอในที่ประชุมวิชาการกรมสุขภาพจิต

Download: -